----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- ความเดิมตอนที่แล้วโดยคุณโจ (ksaEK97) เรื่อง >>> ทำเคฟล่า ง่ายนิสส์เดียว มาลองทำกันดูครับ <<< แต่เนื่องด้วยผมสนใจเกี่ยวกับคาร์บอน-เคฟล่าแท้ๆก็เลยพยายามหาข้อมูล หาหนังสือและก็หาของมาลองทำดูครับ วันนี้ก็ได้ผลงานออกมาแล้วครับ แต่ยังไม่เกี่ยวกับรถนะครับ แค่เอาขั้นตอนคร่าวๆมาให้ชมกันว่าเค้าทำกันยังไง เผื่อว่าใครอยากจะทำบ้าง แต่บอกก่อนนะ ที่ผมทำมานี้ส่วนของรายละเอียดคนที่ทำงานพวกนี้อยู๋อาจจะบอกว่าไม่ถูกต้อง ยังไงก็วิธีไหนถูกก็บอกๆแบ่งปันความรู้กันบ้างนะครับ ก่อนเริ่ม : 1. การทำชิ้นงานคาร์บอน-เคฟล่าออกมาซักชิ้นนั้นมันก็จะมีขั้นตอนอยู่ 3 ขั้นครับ คือ การสร้างต้นแบบ การสร้างแม่แบบ และการสร้างชิ้นงานครับ แต่ละขั้นตอนมันก็จะมีรายละเอียดปรีกย่อยอีกเยอะครับ แต่ที่ผมจะมาทำในวันนี้ไม่เข้าพวกที่กล่าวมาทั้ง 3 ขั้นตอนข้างต้น จะแค่เหมือนๆกับขั้นตอนที่สองคือการสร้างแม่แบบ เพียงแต่เราไม่ได้ใช้น้ำยาลอกแบบ PVA ครับ 2. ก็ขอบอกก่อนว่าขั้นตอนต่างๆในการผสมสารต่างๆและขั้นตอนการทารอบที่ 1 และ 2 ต้องรัดกุมมากๆ และวางขั้นตอนไว้ให้ดีว่าจะต้องทำอะไรก่อน-หลังเพราะถ้าหลุดขั้นตอนอาจจะได้เริ่มทำใหม่หมดและเสียของ เริ่มกันเลยดีกว่าครับ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา อ้อ!! รูปอาจจะเยอะหน่อยนะครับ เพื่อความเข้าใจละกัน แต่บ้างขั้นตอนก็ไม่สามารถถ่ายรูปได้ เพราะสาเหตุเดิมๆครับ คือทำคนเดียวมือไม่ว่างครับ ก็ขออภัยละกันครับ ก่อนอื่นก็มาดูสารต่างๆ ก่อนครับว่าต้องมีอะไรบ้าง เริ่มจากซ้ายขวดใหญ่ได้แก่ เรซิ่น อซิโตน เรซิ่นเคลือบ และโมโนสไตรีน จากซ้ายขวดเล็กได้แก่ กาวร้อน ตัวทำแข็ง และตัวม่วง อุปกรณ์การตวงปริมาณและก็ไว้ใส่สารที่ผสมแล้วครับ จะเอาอะไรก็ได้ที่สามารถตวงระดับ 1 ซีซี ได้สะดวกครับ อุปกรณ์ วัด ตัด ขัด ทา ก็ตามที่เห็นในรูปครับ มีอะไรอื่นใช้ได้ก็เอามาครับ เช่นตะไปเล็ก มีกและกรรไกรที่คมๆกว่าในรูปก็ดีครับ กระดาษทราบก็ไล่ตั้งแต่เบอร์ 100 ไปถึง 1000 ครับ(ผมหาได้แถวบ้าน 180 400 1000) อันนี้ก็หนูลองยาครับ มันเป็นที่พักข้อมือสำหรับคีย์บอร์ดไมโครซอฟครับ ดูไม่เกี่ยวกับรถเท่าไหร่ แต่เดี๋ยวรอบหน้ารู้แล้วว่าจะเอาอะไร เดี๋ยวจะเอามาให้ชมอีกครับ อืมบอกไปว่าสิ่งสำคัญที่ต้องมีอีกคือผ้าคาร์บอนครับ ก็แล้วแต่สะดวกใครจะเอาลายไหน จะคาร์บอนหรือเคฟล่าร์ครับ การตัดผ้าก็ให้เหลือขอบหน่อย (ในรูปเหลือน้อยไป) เมื่อได้แนวที่จะตักแล้วก็เอากระดาษกาวมาติดแล้วตัดผ่ากลางกระดาษกาวไปครับเพื่อป้องกันผ้าคาร์บอนขอบแตก ได้มาแล้วครับ ผ้าขนาดที่ต้องการ ตัวขอบผ้าก็ไม่แตกครับ งานที่จะทำบางชิ้นจะมีการเคลือบกันรอยและกันคราบอะไรติด ก็เอากระดาษทรายขั้นผิวหน้าออกไปก่อนครับ สังเกตุเพิ่มด้านบนรูปผมมีอุปกรณ์หยดสารมาเพิ่มครับ เมื่อผ้าพร้อม ชิ้นงานพร้อม เครื่องมือทาพร้อม เครื่องมือตัดพร้อม สถานที่พร้อม (ไม่มีฝุ่นและลมแรงแต่อากาศถ่ายเท) พูดง่ายๆ คือทุกอย่างต้องพร้อมถึงจะเริ่มผสมสาร ก็มาเริ่มที่การผมสมสารเลยครับ ปริมาณการผสมสารไม่สามารถบอกได้ตายตัวครับ ไม่ใช่กั๊กไว้ แต่เพราะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่นอุณหภูมิ ความชื้น ฝีมือคนทำ ระยะเวลา ทั้งหมดมันเกี่ยวข้องกันหมดครับ ตรงนี้อ่านให้ละเอียดนะ ค่อนข้างสำคัญ โดยมีหลักการคือ ตวงเรซิ่นที่จะสามารถทาได้ 2 รอบ คือเคลือบผิวชิ้นงานกับเคลือบผ้าคาร์บอนหลังหุ้มแล้ว เช่นชิ้นนี้ทารอบละ 40 ซีซี. ก็ตวงมา 80 ซีซี. (ผมใช้ขวดสีชา ขนาด100 ซีซี. ตวง) เมื่อตวงได้แล้วก็มาผสมตัวเร่งหรือตัวม่วงครับในอัตรา 0.2% ครับ หรือประมาณ 0.16 ซีซี. (ใช้หลอดหยด 20 หยด = 1 ซีซี.)แล้วคนให้เข้ากันจนสีเรซิ่นเปลี่ยนเป็นสีม่วงอ่อนๆ จากนั้นก็ผสมโมโนสไตรีนเพื่อให้เรซิ่นไม่ข้นเกินจะได้ทาหรือพ่นง่าย อัตราส่วนไม่เกิน 10% ครับ แล้ว ก็คนให้เข้ากันอีกครั้งครับ เมื่อมาถึงตรงนี้แล้วก็แบ่งตัวสารที่ผสมไว้แล้วนี้เป็น 2 ส่วนเลยเพื่อจะได้ทาใน 2 รอบ ตัวทำแข็งหรือ hardener จะใส่เมื่อตอนจะทาเท่านั้น เมื่อได้สารที่ผสมแล้ว2 ส่วน ส่วนแรกก็เอามาทาเคลือบผิว (40 ซีซี.) ก่อนอื่นต้องเตรียมแปลงไว้อย่างน้อย 2 อัน(กันพลาด) และเท อซิโตนใส่กระป๋องหรือภาชนะสำหรับล้างแปรงไว้ก่อน (จะใช้ทินเนอร์แทนก็ได้) เพราะแปรงทาจะแข็งในเวลาไม่เกิน 1 นาที (ถ้าแข็งก็ทิ้งเลยอย่าเสียดาย) ที่นี้เมื่อจะเริ่มทาแล้วก็เติมสารตัวทำแข็งหรือ hardener ลงไปประมาณ 2-3 % หรือประมาณ 0.8 ซีซี. (ใช้หลอดหยด 20 หยด = 1 ซีซี.) เมื่อหยดเสร็จแล้วก็รีบและก็รีบคนสารให้เข้ากันแล้วก็ลงมือทาเลยครับช้าไม่ได้แล้ว พยายามทาให้เสมอกัน ไล่ทาตั้งแต่หัวๆ กลางๆ หางๆ ชิ้นงาน ถ้าทาแล้วไม่พอก็ให้กลับไปทาทับทันทีห้ามไปทาตรงอื่นก่อนแล้วค่อยกลับมาทาเพราะมันจะเหนียวทาทับไม่ได้แล้ว สรุปก็คือทาให้เรียบแล้วก็ทั่วครับและห้ามทาซ้ำ (แต่ถ้าใช้กาพ่นก็ยังพ่นทับได้ครับ) ทาเสร็จแล้วก็เอาแปรงลงล้างอซิโตนทันที ส่วนเรซิ่นที่เหลือจากการทาก็เททิ้งครับ เพื่อเตรียมตัวสารอีกครึ่งที่ผสมไว้ทาในรอบต่อไปอีก มาถึงตรงนี้ก็คือรอให้ชิ้นงานเริ่มเข้าระยะใกล้แข็ง (ห้ามแข็งครับ) โดยเอามือแต๊ะๆเบาๆที่ชิ้นงานหรือตรงที่เราทำหยดไว้ตอนทาก็ได้ ถ้ายังเหนียวยืดติดมือก็รอต่อไป ระหว่างรอก็เตรียมเรซิ่นอีกครึ่งไว้ เตรียมแปรง อะไรต่างๆไว้เหมือนตอนที่จะทารอบแรกครับ แต่ยังไม่ต้องผสมตัวทำแข็งนะ (ขอย้ำหน่อย) รอแล้วก็รอ เอาผ้าคาร์บอนมาวางไว้เป็นกำลังใจหน่อย เพราะกว่าจะผ่านการทารอบแรกได้ก็เหนื่อยครับ เงาแว็ป!! เลย ไม่ต้องหุ้มแล้วมั้ง แค่นี้ก็สายแล้ว 555++ รอจะถึงระยะใกล้แข็ง โดยเอามือแต๊ะๆ จะไม่เหนียวเหนาะหนะเป็นยางยืดติดมือมา แต่จะเป็นรอยนิ้วมือเมื่อกดลง เมื่อได้ระยะที่ไม่เหนียวหนืดแล้วกดเบาๆเป็นรอยนิ้วมือก็เริ่มเอาผ้าคาร์บอนมาหุ้มได้แล้วครับ โดยวางผ้าลงยังไม่ต้องกดผ้า เพราะถ้ากดผ้าติดแล้วดึงลายผ้าจะย่นหรือถึงกับลายเสียไปเลย จัดผ้าให้ดีๆ ลายให้สวย อย่าให้ขอบที่เป็นกระดาษกาวอยู่บนชิ้นงาน เพราะส่วนนี้ เราไม่ได้ลอกกระดาษกาวออก แต่จะตัดทิ้งครับ จัดผ้าได้ที่แล้วก็เริ่มกดลงครับ ห้ามรีด ห้ามลูบ กดได้อย่างเดียว แล้วก็ห่อขอบมาไว้ด้านหลังชิ้นงานไว้แบบนี้ (รกไปหน่อย) ก็ให้รอบขอบชิ้นงานครับ เอาการร้อนหยดๆ ให้ติดก็ได้ครับ แต่อย่าเยอะนะ เดี๋ยวมันต้องแก๊ะออกอีก จะเอากระดาษกาวติดด้านหลังชิ้นงานก่อนตั้งแต่แรกๆเลยก็ได้ครับ กาวร้อนจะได้ไม่ต้องติดชิ้นงาน ชิ้นงานนนี้เป็นชิ้นที่ขอบผ้าไม่เข้าหากันจะง่ายหน่อย แต่ถ้าเป็นแบบที่ขอบผ้าต้องเข้าหากัน เช่นรูปทรงกระบอกอันนี้จะยากครับเพราะขอบผ้าไม่สามารถติดกระดาษกาวกันขอบผ้าแตกได้ต้องใช้ฝีมือเยอะในการวางผ้าไม่ให้ขอบแตก หลังจากห่อ เก็บผ้าด้านหลังเสร็จ ด้านหน้าก็เป็นแบบนี้ครับ อ้อ!! ลืมบอกไปครับ ระยะเวลาการห่อผ้าอย่าให้นานเกินจนเรซิ่นที่เคลือบไว้ชั้นแรก(ใต้ผ้า)แห้งนะ เดี๋ยวทาเรซิ่นรอบสองตัวเรซิ่น 2 ชั้นจะไม่ประสานกันโดยมีผ้าคั่นกลาง หุ้มผ้าเสร็จก็ลงมือทารอบสองครับ นำเรซิ่นที่ผสมแล้ว (ที่แบ่งครึ่งจากรอบแรก) มาผสมตัวทำแข็งลงไปอีก อัตราส่วนก็เหมือนเดิมครับ แต่ถ้าคิดว่าแข็งเร็วไปก็ลดลง 2-3 หยด ผสมเสร็จแล้วก็รีบคนให้เข้ากันแล้วก็ทาเลยครับ การทาก็เหมือนรอบแรกครับ คือทาให้เสมอกันมาที่สุด จะได้ไม่ต้องขัดเยอะ และอย่าทาซ้ำโดยเว้นระยะห่างเกิน ทาเสร็จก็อย่าลืมล้างแปรงเลยนะครับ (ไม่งั้นเดี๋ยวได้ทิ้งอีกอัน) ก็รอครับ รอให้มันเแห้ง จริงๆแล้วชิ้นงานบางอันก็ไม่ต้องรอให้แห้งครับ เช่นชิ้นงานที่เป็นแผ่นแบนหรือโค้งหรืออะไรก็ได้ที่ไม่ต้องเอาผ้าไปซุกไว้ด้านหลังแบบชิ้นนี้ เพราะชิ้นนี้ไม่มีที่ให้จับถือมาเพื่อตัดขอบผ้าที่เลยเกินขอบชิ้นงานออก ลองนึกถึงแผ่นแบนเรียบ เมื่อเรซิ่นเริ่มแข็งแต่ยังไม่แข็ง(ยังสามารถเอามีดตัดได้)ก็เอามีดเล๊าะตัดผ้าตามขอบชิ้นงานส่วนที่เกินขอบออกไปครับ แต่ชิ้นนี้มันเป็นอย่างนี้ก็เลยตัดยากครับ รอให้มันแห้งแล้วกัน (งานนี้ขัดกันเหนื่อยแน่ แถมเครื่องขัดก็ไม่มี) ลงมือขัดเลยครับ แล้วแต่สะดวกจะหาเครื่งอมืออะไรมาก็ได้ แต่ผมใช้แค่มีดคัตเตอร์กับตะไบเล็กครับ งานนี้เล๊อะอย่าบอกใคร และที่จะบอกคือคันครับถ้าใครเคยโดนใยแก้วที่เหลืองๆที่เค้าใส่ในตู้ลำโพงเมื่อก่อน (ไม่ใช้แบบสังเคราห์สีขาวนะ) นั้นล่ะครับ คันแบบนั้นเลย อ้อ!! ควรหาหน้ากากปิดจมูกสวมด้วยนะครับ ส่วนผมก็สวมมาตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว ตัดขอบเกินด้านหลังออกก็เป็นแบบนี้ครับ ส่วนด้านหน้าก็เป็นแบบนี้ครับ ไม่ต้องตกใจที่มันไม่เรียบ แต่ถ้ามากกว่านี้ก็ทำใจหน่อยนะ เพราะขัดกันเหนื่อยแน่ๆ (ถ้าไม่มีเครื่องขัด) เริ่มขั้นตอนขัดกระดาษทราย+น้ำเลยครับเริ่มขัดตั้นแต่กระดาษทรายเบอร์หยาบๆก่อนแล้วค่อยไล่ไปถึงเบอร์ 1000 ครับ โดยเบอร์หยาบขัดให้ที่ขรุขระไม่เรียบออกไปให้หมด ขัดแล้วก็ให้เรียบออกมาประมาณนี้ครับ จากนั้นก็เริ่มผสมสารอีกรอบครับ โดยใช้สูตรเดิมแต่เปลี่ยนจากเรซิ่นธรรมดาเป็นเรซิ่นเกรดเคลือบ แล้วก็เริ่มทาอีกเหมือนเดิมครับ ก็เหมือนเดิมครับ คือรอ รอ แล้วก็รอให้มันแห้งสนิท หรือจะทิ้งไว้ให้แห้งซักวันก็ดีครับ เมื่อชิ้นงานแห้งสนิทดีแล้วก็มาแต่งส่วนที่เรซิ่นเยิ้มออกครับ แล้วก็ได้เหนื่อยกันอีกแล้ว ก็คือขัด ขัด แล้วก็ขัดกระดาษทรายตั้งแต่เบอร์หยาบไปถึงละเอียด หลังจากกระดาษทรายเบอร์ 180 หลังจากกระดาษทรายเบอร์ 400 และหลังจากกระดาษทรายเบอร์ 1000 มาถึงการขัดสุดท้ายคือใช้น้ำยาขัดสีรถครับ ก็แล้วแต่จะเลือกเอาครับ ของผมมีแบบนี้ทั้งขัดและเคลือบเลย ขัดกันให้เงา ขัดกันจนเราพอใจก็เป็นอันเสร็จครับ แล้วก็เอามาประกอบเข้าที่เหมือนเดิม ได้ออกมาแบบนี้ครับ จากการเอาไปใช้งานรู้สึกสบายข้อมือขึ้นเพราะผิวมันเรียบขึ้นและทำความสะอาดง่าย สรุปครับ อันนี้ก็เป็นวิธีการหุ้มผ้าคาร์บอนเรียกว่าแบบขำๆ สนุกๆแล้วกัน เพราะถ้าจะทำจริงๆจังๆมันต้องมีรายละเอียดอะไรอีกเยอะครับ เครื่องมือก็ไม่ใช่แค่นี้ และอีกอย่างเรื่องการหุ่มนั้นก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไรมากก็แค่สวยขึ้นมาบ้าง ถ้าจะให้ได้ประโยชน์มันก็ต้องขึ้นตัวชิ้นงานนั้นมาเลย (สร้างแบบ สร้างโมลด์ สร้างชิ้นงาน) แต่เดี๋ยวงานหน้าจะลองขึ้นชิ้นงานดูเลยครับ ขอดูก่อนว่าจะเอาอะไรดี จบ.
เครื่องขัดตัวสีน้ำตาลขนเยอะๆนี่น่ารักดีนะครับ (แซวเล่นนะครับ) ขอบคุณมากครับ ได้ประโยชน์มากเลย เด้วจะไปลองทำดูบ้าง
ขอบคุณสำหรับบทความดีๆคับ ตอนแรกผมจะไปซื้อแบบที่จุ่มน้ำมาลองทำดู แตพอไปดูที่เสร็จแล้วมันไม่สวย ต้องเป็นแบบการหุ่มผ้าคาร์บอนถึงจะสวย พอดีเลยคับกำลังหาอยู่เลย เหมือนฟ้าทรงโปรด ถ้าอยากได้รายละเอียดมากกว่านี้ เช่น ราคา แล้วก็สถานที่ซื้อ พอจะบอกได้ไม๊ยคับ อยากทำจริงๆ ขอบคุณล่วงหน้าคับ
แหล่งซื้อผมรู้อยู่ 2 ที่ครับ นอกนั้นผมไม่ทราบครับ ผมอยู่สงขลาก็ขวนขวายได้ 2 ร้านนี้เองคือ - ร้าน"เรซิ่นอาร์ต" อยู่เยื้อง ๆ ม.ศรีปทุม ถ้ามาจากเกษตรจะถึงก่อนนิดนึง - ร้าน All Art Center อยู่ถนนงามวงศ์วาน ก่อนถึง ซ.งามวงศ์วาน 4 เรื่องราคา ผ้าคาร์บอนอยู่ที่ประมาณ 3000+ นิดๆ ส่วนเคฟล่าร์จะถูกลงมาหน่อย ที่บอกมานี้ราคาผ้าขนาด 1 x 1.27 ม. ครับผม เมื่อ 3-4 ปีที่แล้วราคาก็จะอยู่แค่ 1500-1600 เท่านั้นเองครับ แต่ตอนนี้ความต้องการเยอะขึ้นบวกกับการนำเข้ามีการควบคุม(เคฟล่าร์เอาไปทำเสื้อเกราะกันกระสุน) ส่วนราคาสารต่างๆที่เห็นในรูปด้านบนก็เฉลี่ยแล้วกัน ขวดละ 100 ครับ ไม่ต้องตกใจว่าทำไมงานพวกนี้เวลาขายออกมาราคาสูงๆ เพราะกรรมวิธีไม่ใช่แค่นี้ครับ ส่วนเรื่องตำราคาร์บอน-เคฟล่าร์ไม่มีครับ ยังไม่เคยมีใครเขียนออกมาเป็นเล่ม แต่สามารถหาหนังสือไฟเบอร์กลาสมาอ่านแทนได้(ถ้าหาได้นะ) เพราะขั้นตอนก็จะคล้ายๆกันครับ ส่วนถ้าใครอยากอ่านเพื่มก็ลองดูใน ห้อง D.I.Y รวมของ RCWeb ได้ครับ ผมก็ได้จากในนี้เยอะเหมือนกันครับ http://rcweb.net/forums/showthread.php?t=187
หาดใหญ่ไม่ต้องหวังว่ามีเลยครับ แค่งานไฟเบอร์พลิกแผ่นดินหายังไม่เจอเลย นี่ล่ะครับคุณ Tank สาเหตุที่ผมมาเล่นเกี่ยวกับพวกนี้ แต่ข้ามขั้นไปหน่อย จริงๆมันควรจะเล่นงานไฟเบอร์ก่อน แล้วค่อยมาคาร์บอนครับ เดี๋ยวจะมีอะไรมาเล่นเรื่อยๆครับ