สวัสดีครับ คงต้องบอกก่อนว่าครั้งนี้ผมจะมาแปลกซักหน่อย เนื่องจากปกติแล้วจะเป็นผู้เขียนรีวิวในการทดสอบ รถ,ยางรถยนต์,อุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ แต่บทความนี้เป็นการทดสอบ จักรยาน ที่มีความน่าสนใจตรงที่จักรยานคันนี้เป็นจักรยานพับที่มีความเล็กมากเป็นพิเศษ ชนิดที่สามารถพกพาไปไหนมาไหนได้ง่าย ไม่ใช่แค่พับขึ้นรถยนต์ส่วนตัวเท่านั้น แต่มันสามารถพับแล้วนำขึ้นรถเมล์ รถไฟฟ้า ลงเรือ หรือเรียกได้ว่าติดตัวไปใช้บริการการเดินทางสาธารณะทุกรูปแบบได้อย่างสบายๆโดยไม่เกะกะหรือเดือดร้อนใคร ซึ่งจักรยานพระเอกของเราในครั้งนี้นั่นก็คือ PACIFIC CarryMe
ย้อนกลับมาเล่าสักหน่อยก่อนว่าทำไมผมถึงได้มาทดสอบรถจักรยานคันนี้ จริงๆแล้ว CarryMe เข้ามาขายในไทยได้ประมาณ 3-4 ปีแล้วครับ(เท่าที่หาข้อมูลได้นะ) ซึ่งตอนนั้นเองผมเพิ่งเริ่มปั่นจักรยานเพื่อการออกกำลังกายและไม่ได้รู้จัก CarryMe มาก่อนเลย ผมเองก็คงเหมือนกันนักปั่นจักรยานสมัครเล่นหลายๆคนที่เริ่มจากการปั่นเล่นเพื่อการออกกำลังกายสั้นๆใกล้ๆ แต่ด้วยภาวะบ้านเมืองในตอนนั้นผมต้องขับรถเดินทางไปทำงานในเส้นทางที่จะต้องผ่านพื้นที่ที่มีการชุมนุมปิดถนน จึงทำให้การเดินทางโดยรถยนต์นั้นไม่มีความสะดวกเลย จนเริ่มตัดสินใจที่จะลองปั่นจักรยานไปทำงานที่มีระยะห่างจากบ้าน 9 กิโล จากเคยขับรถโดยใช้เวลา 1 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ บางวันรถติดมากๆก็ 2 ชั่วโมง พอหันมาปั่นจักรยานก็ใช้เวลาในการเดินทางที่น้อยลง แม้ครั้งแรกที่ปั่นจะใช้เวลา 1 ชั่วโมงแต่เมื่อเริ่มชินกับการปั่นบนถนน ร่างกายเริ่มอยู่ตัว เวลาที่ใช้ปั่นก็ลดลงเรื่อยๆ จากเคยเหนื่อยแทบขาดใจตอนนี้กลายเป็นปั่นสบายๆโดยใช้เวลาแค่ไม่เกิน 25 นาที ไม่ต้องไปเสียเวลารถติดเป็นชั่วโมงๆ จึงใช้จักรยานในการเดินทางไปทำงานเกือบทุกวันตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในระหว่างนั้นก็เริ่มมีกลุ่มเพื่อนที่ปั่นจักรยานได้ชวนให้ไปปั่นงานทางไกลต่างๆ เริ่มจากงานระยะสั้น 50-60 กิโล ไปเป็นงาน TC100 ระยะ 100 กิโล และสุดท้ายก็เริ่มเข้าสู่วงการปั่นจักรยานทางไกลสุดขั้วอย่าง Audax โดยในช่วงของชีวิต 4 ปีที่วนเวียนกับจักรยานนั้นก็ได้มีการเปลี่ยนจักรยานไปบ้างในแบบต่างๆกันไป โดยตัวผมเองจะชื่นชอบในการปั่นจักรยานล้อเล็กขนาดล้อ 14 นิ้วเป็นพิเศษเนื่องจากเราปั่นในเมืองรถติดๆ มันปั่นสะดวก ซอกแซกง่าย เบา และสามารถพับและเอาขึ้นรถไฟฟ้าได้ ด้วยความชอบในรถจักรยานล้อเล็กจึงตัดสินใจในการที่จะลองเอาจักรยานล้อเล็กไปปั่นงานทางไกลหรืองานโหดๆอย่างขึ้นดอยอินทนนท์ เพียงเพื่อพิสูจน์ว่าเราจะทำได้ไหม โดยที่ผ่านมามีตัวอย่างของคนที่ทำได้อย่างเช่นคุณสิงห์แห่งเพจ "ปั่นแค่ไหว" ที่รักและชื่นชอบในการปั่นจักรยานล้อเล็ก 14 นิ้วเป็นชีวิตจิตใจ ที่สามารถปั่นผ่านงานขึ้นดอยอินทนนท์ และ Audax ทางไกลระยะต่างๆ หรือแม้กระทั่งปั่นจักรยานล้อเล็กจากกรุงเทพฯไปเชียงใหม่มาแล้ว เรียกได้ว่าเป็นไอดอลผมเลยทีเดียว เราก็เลยอยากทำดูบ้างว่าทำได้ไหม จนในที่สุดแล้วผมก็ทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้นั่นคือผ่านงาน ดอยอินทนนท์ และ Audax ระยะ 200 300 400 และ 600 กิโลใน 1 ฤดูกาลจนได้สถานะ SR ด้วยรถล้อ 14 นิ้วในฤดูกาลปี 2017
ตลอดเวลาที่ผมปั่นจักรยานล้อ 14 นิ้วผมก็คิดเสมอว่านี่ขนาดล้อ 14 ยังต้องฝ่าฟันข้อจำกัดอะไรขนาดนั้น ถ้าล้อเล็กกว่านี้จะเหนื่อยกว่าขนาดไหน ซึ่งผมบอกเลยว่าที่ผ่านมาการปั่นจักรยานล้อ 14 นิ้วจนได้สถานะ SR ของปีนี้นั้นต้องใช้แรงกายแรงใจและความอดทนเป็นอย่างมากเพราะคงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องยอมรับอย่างนึงว่าเมื่อเราเลือกที่จะปั่นรถจักรยานที่เล็กกว่ามันก็ย่อมมีข้อจำกัดบางอย่างที่อาจจะทำให้เราได้เหนื่อยกว่าคนอื่นเค้า แต่เมื่อเราสามารถทำเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้สำเร็จ จึงเริ่มหมดความท้าทายที่จะได้ทำ ก็เริ่มเพลาๆการปั่นทางไกลลงไปบ้างแต่ก็ยังคงปั่นไปทำงานทุกวันอยู่ แต่แล้วจู่ๆก็มาเห็นโฆษณาของร้าน BIKE-MONSTER ที่นำเอาจักยาน PACIFIC CarryMe มาลดราคาจาก 25,900 มาขายในราคา 15,000 แล้วเป็นรถจักรยานที่ล้อเล็กมาก คือมีล้อขนาด 8 นิ้ว โอ้ววว มันน่าสนใจดีนะ แต่ด้วยความที่มันเล็กลงมาอย่างก้าวกระโดด คือจากเคยปั่นล้อ 14 แทนที่จะลงมาลองล้อ 12 หรือ 10 นี่โดดข้ามมาเป็น 8 นิ้วเลยซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายมากๆ ทั้งเรื่องขนาดรถ ความทนทาน ความเร็ว ประกอบกับในวันที่เห็นโฆษณานั้นก็ใกล้วันที่จะไปปั่นระยะ 100 กิโลของงาน TC100 ที่เพชรบุรี จึงไม่รีรอที่จะติดต่อกับร้าน BIKE-MONSTER เพื่อขอนำ CarryMe มาปั่นทดสอบดูว่ามันเป็นอย่างไรโดยวัดเอาจากเรื่องที่ผมสนใจ 3 หัวข้อหลักๆดังนี้คือ ขนาด , ความเร็ว , ความทน และทางร้านเองก็ตอบรับในการที่จะให้ผมนำ CarryMe มาทดสอบ ซึ่งตอนแรกผมก็ลังเลนิดๆเพราะร้านตอบรับมาวันเสาร์ซึ่งกว่าผมจะว่างไปรับรถมาก็เป็นช่วงเย็นๆ และผมต้องไปปั่น TC100 เช้าวันอาทิตย์ นั่นคือหมายความว่าผมจะมีเวลาทำความรู้จักและคุ้นเคยกับ CarryMe แค่ไม่กี่ชั่วโมงก่อนปั่นทางไกล 100 กิโล ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก แต่ยังไงดีล่ะ เมื่อความท้าทายอยู่ตรงหน้าแล้วก็ลุยกันเลยละกัน
ความแตกต่างในเรื่องของขนาดรถระหว่าง CarryMe ล้อ 8 นิ้ว กับ Java X3 ล้อ 14 นิ้ว
ผมไปรับรถจากที่ร้านในช่วงก่อนค่ำ ร้านได้สอนในเรื่องของการพับและการกางออก ซึ่งง่ายมากๆ และให้ผมได้ลองคุ้นเคยกับรถด้วยการปั่นอยู่ในซอยของร้าน ซึ่งผมเองก็ไม่ได้มีเวลามากเพราะต้องไปธุระที่อื่นต่อและจะได้รีบกลับบ้านไปนอนพักผ่อนเพราะต้องตื่นเช้าไปปั่นอีก จึงพับ CarryMe ขึ้นรถมาแบบยังไม่ได้คุ้นอะไรมากนัก รีบกลับมาเตรียมตัวและพักผ่อนสำหรับการปั่น CarryMe ล้อเล็ก 8 นิ้วที่ผมยังไม่รู้จักมันดีพอ กับระยะทาง 100 กิโล ผมปลอบใจตัวเองไว้ว่า ไม่เป็นไรเรามีระยะทางตั้ง 100 กิโลซึ่งมันยาวมากสำหรับที่จะทำให้รู้จักจักรยานคันนี้ รายการนี้ 100 กิโลเค้าให้เราปั่นตั้ง 8 ชั่วโมง ซึ่งปกติผมปั่นที่ 4 ชั่วโมง คิดซะว่าเราไปปั่นแบบเชิงท่องเที่ยวชมนกชมไม้ละกัน
เช้าวันอาทิตย์ที่ 26 พฤศจิกายน 2560 ผมและเพื่อนอีก 2 คนเดินทางโดยรถเก๋งเพื่อไปร่วมงานปั่น TC100 ระยะ 109 กิโลที่จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งในตอนแรกวางแผนว่าจะเอารถตู้ไป แต่เมื่อจำนวนคนมีแค่ 3 คน จักรยานเสือหมอบ 2 คัน ส่วนคันที่ผมเอาไปคือ CarryMe จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเอารถตู้ไปให้เปลืองค่าน้ำมัน เพราะ CarryMe พับแล้วจะเอาไปตั้งหรือวางตรงไหนก็ได้
ระหว่างรอออกตัวเจ้าตัวเล็ก CarryMe เป็นที่สนใจจากผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก เนื่องจากดูๆแล้วมันไม่น่าจะปั่นในระยะ 100 กิโลได้สำเร็จ แต่นั่นคือความท้าทายใหม่ๆที่ผมดั้นด้นที่จะหิ้ว CarryMe ไปถึงที่นั่นด้วยความตั้งใจว่าจะทำมันให้ได้
อย่างที่บอกครับ ก่อนปั่นผมมีเวลาทำความรู้จักกับ CarryMe น้อยมาก ไม่มีเวลาจัดเตรียมอะไรทั้งสิน แม้กระทั่งขากระติกน้ำก็ไม่ได้ติดมา ดังนั้นระหว่างทางผมจึงต้องอาศัยเพื่อนที่ไปด้วยกันคอยเป็นคู่ Service ส่งน้ำให้ตลอดทาง
ด้วยจานหน้า 84ฟัน เฟืองหลัง 14 ฟัน บนล้อ 8 นิ้ว ความเร็วที่ทำได้ระหว่างทางคือ 20 กิโลเมตร/ชั่วโมงที่รอบขาประมาณ 85-90 รอบ/นาที ถ้าเร่งรอบขาไปที่ 95-100 รอบ/นาทีจะสามารถยืนความเร็วที่ประมาณ 25 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่การปั่นที่รอบขา 100 รอบ/นาทีสำหรับการปั่นทางไกลแบบนี้ร่างกายผมไม่น่าจะไหว ผมจึงทำความเร็วไว้ที่ 20 กิโลเมตร/ชั่วโมงเพื่อให้มีแรงเหลือพอสำหรับระยะทาง 100 กิโลเมตร
เส้นทางที่ปั่นผ่านมีทั้งทางขรุขระ ผ่านช่วงถนนที่มีความเสียหาย มีหลุม มีทางกรวด เรียกได้ว่าครบทุกแบบ ซึ่งการปั่น CarryMe อาจจะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษเนื่องจากล้อที่มีขนาดเล็ก อาจจะเสียหลักได้ถ้าเจอหลุมหรือกรวดก้อนใหญ่ ผมจึงต้องคอยใช้สมาธิในการดูไลน์ที่เราจะผ่านไปบนถนนพอสมควร แต่ก็สามารถผ่านถนนทุกรูปแบบที่กล่าวมาได้ทั้งหมดโดยไม่เกิดการเสียหลักแต่อย่างใด
สำหรับการปั่นขึ้นเนินไม่ใช่เรื่องยาก เนื่องจากความได้เปรียบเชิงกลของขนาดล้อทำให้เราไม่ต้องออกแรงอะไรมากมาย แต่ถ้าถึงขนาดเจอเนินตัวพ่อที่ปั่นขึ้นไม่ไหวบอกได้เลยว่ารถเล็กๆแบบนี้ก็ยิ่งได้เปรียบเพราะ ..... มันเล็กและเบาเลยเข็นง่าย ^_^
ส่วนการลงเนินที่ความเร็วสูงนั้นมั่นคงดีครับ ผมดูข้อมูลย้อนหลังในทริปนี้ความเร็วสูงสุดตอนไหลลงเนินที่ 36.1 กิโลเมตร/ชั่วโมง น้อยกว่าเสือหมอบของเพื่อนที่ปั่นไปด้วยกัน ที่น้อยกว่าเพราะตอน CarryMe ไม่ถึงกับลื่นมากนักในตอนไหลลงเนิน
ในเรื่องของการทรงตัวระหว่างปั่น ผมว่า CarryMe เป็นรถที่ออกแบบในเรื่องของการถ่ายเทนำหนักมาดีมาก รวมถึงการออกแบบเฟรมที่ช่วงคานตรงกลางเฟรมไม่มีการพับเลย จึงทำให้มีความแข็งแรงและมีความนิ่งมากๆในตอนปั่น
ซึ่งต่างจากรถพับทั่วไปที่มักมีจุดพับที่กลางคานของรถซึ่งจะเกิดเป็นข้อด้อยตรงที่เมื่อปั่นแล้วจุดพับเหล่านั้นจะมีการขยับตัวได้มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่รุ่น แต่มันส่งผลถึงความมั่นคงของรถในระหว่างปั่น ซึ่งการที่ CarryMe ไม่มีจุดพับที่คานหลักของเฟรมเลยจึงทำให้ความมั่นคงในการปั่นดีมากๆ มันทรงตัวดีขนาดที่ว่าผมสามารถจับแฮนด์มือเดียวเพื่อเอามืออีกข้างไปรับน้ำจากเพื่อนและปั่นด้วยมือเดียวแล้วยกน้ำขึ้นดื่มระหว่างทางได้โดยไม่ต้องจอด ซึ่งปกติแล้วในการปั่นจักรยานล้อเล็กส่วนมากเราจะเจอกับอาการหน้าไว ไม่มั่นคง ถ้ามือไม่นิ่งจะทรงตัวยากมาก และเรื่องของตำแหน่งการลงน้ำหนักของผู้ขี่ถือว่าออกแบบมาได้ดีมาก ลองสังเกตระยะล้อหลังที่อยู่หลังเบาะไปพอสมควร ตรงนี้เป็นรายละเอียดที่ดีในการถ่ายเทน้ำหนักผู้นั่งให้อยู่ระหว่างล้อหน้าและล้อหลัง เนื่องจากตัวผมเองเคยบาดเจ็บถึงขั้นกระดูกแตกมาแล้วกับเรื่องบาลานซ์น้ำหนักคนขี่บนรถเล็กๆ สาเหตุมาจากการที่ล้อรถมีขนาดที่เล็ก ทำให้เกิดอัตราทดแรงที่สูงมาก หากน้ำหนักคนขี่เทไปด้านหลังเยอะหรืออยู่ในตำแหน่งเลยล้อหลังไป ในเวลาออกแรงปั่นอาจทำให้ล้อหน้ายกและหงายหลังได้ ซึ่งผมเคยหงายหลังจนกระดูกแตกมาแล้วกับรถล้อ 14 ดังนั้นสิ่งแรกๆที่ผมทดสอบ CarryMe เลยคือการทดสอบเรื่องบาลานซ์น้ำหนักเพราะเรื่องนี้อันตรายมากๆ แต่กับ CarryMe ผมบอกได้เลยว่าหายห่วง
สำหรับยางที่ให้มากับ CarryMe นั้นเป็นยาง MAXXIS เบอร์ 8 x 1(1/4) สูบลมได้ค่อนข้างแข็งคือที่ 80 PSI ระหว่างปั่นไม่มีอาการย้วยใดๆ ส่วนความกว้างหน้ายางก็กำลังดีไม่เล็กจนคุมยาก และไม่ใหญ่เกินไปจนกินแรง
การเกาะถนนในโค้งทำได้ดี ซึ่งอีกเรื่องที่จักรยานล้อเล็กจะแตกต่างจากรถจักรยานไซส์ปกติคือวงรอบของยาง เหตุเพราะว่าในระยะทางเท่ากันล้อเล็กกว่าจะมีการหมุนที่มากกว่า ยกตัวอย่างล้อของเสือหมอบหมุน 1 รอบ ล้อ 8 นิ้วของ CarryMe อาจจะหมุน 3 รอบเพื่อให้ได้ระยะทางเท่ากัน นั่นหมายถึงยางจะผ่านการสัมผัสถนนมากรอบกว่าด้วยความเร็วรอบที่สูงกว่า
ซึ่งตลอดการปั่นระยะทาง 100 กิโลในวันนั้นทุกครั้งที่จอดพักที่จุด Check-Point ผมจะเอามือจับเพื่อดูอุณภูมิของยางว่าร้อนมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจุด Check-Point จะห่างกันประมาณ 30 กิโลเมตร และยิ่งต้องปั่นผ่านช่วงเวลากลางวันแดดร้อนๆยิ่งน่ากังวล แต่เท่าที่ลองจับดูแค่รู้สึกว่าอุ่นๆเท่านั้น ไม่ได้ร้อนถึงขนาดว่าจะผิดปกติแต่อย่างใด ผมเดาว่าส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจากล้อของ Carry ที่ให้มานั้นเป็นแม็กอลูมิเนียมลักษณะก้านค่อนข้างใหญ่ น่าจะช่วยในการนำพาความร้อนของยางและการที่ก้านมีลักษณะเหมือนใบพัดน่าจะทำให้สามารถรับลมเพื่อระบายความร้อนออกไปได้ดีนั่นเอง
ข้อดีอีกอย่างของ CarryMe คือล้อแม็ก แน่นอนว่าล้อขนาดเล็กมากๆคงทำล้อที่เป็นซี่ลวดได้ยาก เราจึงตัดปัญหาเรื่องลวดขาดง่ายไปได้เลย ซึ่งผมคงต้องเล่าให้ฟังว่าที่ผ่านมาในการปั่นจักรยานล้อ 14 นั้นผมเจอเหตุการณ์ลวดล้อขาดอยู่บ่อยๆ เนื่องจากล้อที่เล็กความยาวของลวดจะสั้น ทำให้การให้ตัวของลวดมีน้อย เมื่อโดนแรงกระแทกจะทำให้ลวดขาดง่ายนั่นเอง
ผลการปั่น TC100 ในวันนั้นผมปั่นไป 7 ชั่วโมงครึ่ง โดยแวะทานข้าว 2 ครั้ง และจอดถ่ายรูปสวยๆระหว่างทางหลายจุด โดยระยะเวลาเฉพาะตอนปั่นจริงๆจะอยู่ที่ 5 ชั่วโมง 50 นาที คิดเป็นความเร็วเฉลี่ยที่ 18.6 กิโลเมตร/ชั่วโมง สำหรับผมพอใจในผลการปั่นครับ เพราะถือว่าเราทำสำเร็จ ทันตามกรอบเวลาที่ผู้จัดงานกำหนดไว้
คงต้องบอกแบบนี้นะครับว่า การปั่นทดสอบ CarryMe ในงาน TC100 ระยะทาง 100 กิโลนั้นไม่ใช่เรื่องปกติที่มนุษย์โลกเค้าทำกัน ส่วนหนึ่งเกิดจากการอยากเอาชนะขีดจำกัดของตัวผมเอง แต่องค์ประกอบของความสำเร็จนี้จะต้องประกอบไปด้วยตัวรถที่ดี มีความทนทานสูง มีการทรงตัวที่ดี ควบคุมง่ายซึ่ง CarryMe สามารถตอบโจทย์ได้หมดทุกข้อ มันจึงสามารถพาผมให้ผ่านระยะ 100 กิโลมาได้อย่างไม่ยากเย็น
ซึ่งโดยรวมแล้วผมไม่อยากให้มองเรื่องความเร็วที่ทำได้หรือการไหลลื่นตอนลงเนินที่ไม่ได้ลื่นซักเท่าไหร่ว่าเป็นข้อด้อยของ CarryMe เนื่องจาก CarryMe ไม่ได้เกิดมาเพื่อเดินทางไกล เพราะ CarryMe ออกแบบมาเพื่อคนเมือง เดินทางระยะสั้น พับแล้วเล็ก ขึ้นรถลงเรือสะดวก ซึ่งการปั่นในเมืองนั้นไม่ได้ต้องการความเร็วหรือการไหลที่มากมายอะไร และเพื่อพิสูจน์และทดสอบคำกล่าวนี้ผมจึงได้นำ CarryMe มาปั่นทดสอบในเมือง ขึ้นรถไฟฟ้า ขึ้นรถเมล์ และนำผลการทดสอบมาให้อ่านกันด้วย
การปั่น CarryMe ในเมืองนั้นสามารถทำความเร็วได้เหมาะสมมากๆ ขี่ซอกแซกได้คล่อง อาจจะต้องคอยระวังหลุม ขอบท่อ ขอบถนน เป็นพิเศษเพราะล้อค่อนข้างเล็ก ซึ่งความเร็วที่ทำได้ต้องบอกว่าดีแล้วที่ CarryMe ไม่ได้ทดแรงให้สามารถปั่นได้เร็วกว่านี้เพราะด้วยขนาดของล้อถ้าเร็วกว่านี้ในเมืองคงไม่เหมาะเพราะหลุมบนถนนบ้านเราเยอะเหลือเกินครับ เร็วกว่านี้ถือว่าเกินความจำเป็นเพราะยิ่งทำให้เราเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายจากการปั่นในเมืองได้
การนำ CarryMe ขึ้นรถไฟฟ้าหรือรถเมล์ สามารถทำได้ง่ายๆเนื่องจากเมื่อพับแล้วเล็กและผอมมาก ไม่เปลืองเนื้อที่ ผมทดลองเอาขึ้นรถเมล์ในเวลาเร่งด่วนซึ่งไม่มีที่นั่งก็สามารถเอา CarryMe ตั้งอยู่หน้าเราและยืนจับไว้แบบนั้นไปได้โดยไม่เกะกะใคร และหากมีที่นั่งก็สามารถเอา CarryMe ตั้งตรงระหว่างขาในตอนที่เรานั่งได้โดยไม่ขวางทางใคร
ซึ่งตลอดทางในการทดสอบบนรถเมล์และรถไฟฟ้าก็ได้รับความสนใจจากคนทั่วไปซึ่งจะมีแต่คนถามว่ามันคือรถอะไร ราคาเท่าไหร่ ผมจึงฝากเค้าถ่ายรูปให้ด้วยเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนในการตอบคำถาม ^_^
แนวทางการปรับแต่ง
- อะไหล่สเตมสามารถใช้ร่วมกับรถจักรยานทั่วไปได้ จึงสามารถปรับแต่งด้วยการเปลี่ยนขนาดความยาวและองศาของสเตมให้เหมาะสมกับผู้ปั่นได้
- เนื่องจากสเตมเปลี่ยนได้จึงสามารถเปลี่ยนแฮนด์เป็นแบบอื่นได้เช่นแบบบลูฮอร์นหรือแบบหมอบได้
- สามารถเปลี่ยนหลักอานได้เนื่องจากเป็นไซส์ 31.6 เพื่อเพิ่มความยาวหรือเพื่อลดน้ำหนัก
สำหรับข้อเสียเท่าที่พบระหว่างการทดสอบมีดังนี้
- การจอดรถแล้วใช้ขาตั้งของรถไม่ค่อยมั่นคง เนื่องจากขนาดของล้อที่เล็กมากทำให้ขาตั้งสั้นมากๆ
ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดของรถเอง ระหว่างจอดถ้ามีใครมาสะกิดนิดเดียวก็สามารถล้มได้ ผมจึงต้องนำไปจอดให้ห่างไกลผู้คน หรือจอดตรงที่ที่สามารถพิงรถไว้ได้เพื่อป้องกันไม่ให้มันล้ม
- ระหว่างปั่น ถ้าทางไม่เรียบจะมีเสียงที่เกิดจากการคลอนของล้อเล็กๆ 2 ล้อที่เอาไว้สำหรับลาก อันนี้ผมไม่แน่ใจว่าเกิดจากความตั้งใจในการออกแบบให้มันคลอนได้นิดๆเพื่อให้มันเข็นแล้วบังคับทิศทางง่ายหรือเปล่า
แต่เราสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยการหายางมารัดไว้ชั่วคราวระหว่างปั่น แต่สำหรับการปั่นระยะใกล้อาจจะไม่ถึงกับต้องแก้ไขอะไรเพราะเราคงไม่ได้ใช้เวลาในการปั่นนานสักเท่าไหร่
- ยางขนาด 8 นิ้ว อาจจะ Service ระหว่างทางยาก เนื่องจากวงของยางเล็กมากๆทำให้งัดยางออกจากล้อยากมากเพราะขอบมันตึงไปหมดทุกทิศทาง แต่อย่างที่บอกครับ รถไม่ได้ออกแบบมาเพื่อเดินทางไกล ถ้าเกิดยางรั่วระหว่างทางเราก็แค่พับมันและขึ้นรถแทนการปั่นแล้วค่อยนำกลับมา Service ที่บ้านหรือที่ร้านในภายหลังก็ตามสะดวก
- การอัพเกรดรถให้สามารถทำความเร็วได้เพิ่มขึ้นนั้นทำได้ยาก ผมไม่อยากใช้คำว่าไม่สามารถทำได้เพราะไม่แน่ใจว่ามีใครทำเป็นตัวอย่างหรือยัง เพียงแต่ผมเล็งด้วยสายตาแล้วเรามีโจทย์ที่ยากอยู่ 2 อย่าง
1.ขนาดของฟันที่เล็กกว่าขนาดมาตรฐานเพราะ CarryMe ต้องการออกแบบให้ได้จำนวนฟันที่เยอะบนใบจานที่ไม่ใหญ่จนเกินไปจึงต้องออกแบบขนาดของฟันให้เล็ก
เราลองนึกภาพว่าถ้าฟันมีขนาดปกติแล้วจานหน้าที่ต้องมีฟัน 84 ฟันมันจะต้องมีขนาดมโหฬารขนาดไหน แต่ด้วยฟันที่ออกแบบมาเล็กผมจึงคาดว่าไม่สามารถหาจานหน้าที่มีฟันเล็กแบบนี้มาเปลี่ยนได้
2.ระยะโซ่กับตะเกียบหลังชิดกันมาก
นั่นหมายความว่าถ้าคุณสามารถหาจานที่ฟันเล็กและมีจำนวนฟันมากกว่า 84 ฟันได้ก็ไม่สามารถนำมาใช้ได้อยู่ดีเพราะถ้าใบจานใหญ่กว่านี้มุมของโซ่จะชันขึ้นและจะทำให้โซ่ติดกับตะเกียบหลังอยู่ดี
แต่อย่าซีเรียสกับเรื่องนี้ครับ อย่าลืมว่ามันเอาไว้ใช้ในเมืองระยะใกล้ๆ เราไม่ได้ต้องการความเร็วที่ถึงขนาดต้องอัพจานหน้าหรอกครับ
บทสรุปของการทดสอบทั้งการปั่นทางไกล และการทดสอบในเมือง ผมขอให้นึกภาพเหตุการณ์ใช้งานในแบบต่างๆดังนี้ละกันครับ
1.มันจะดีกว่าไหมถ้าคุณไม่ต้องขับรถไปทำงานผ่านรถติดเป็นชั่วโมง แต่เพียงแค่คุณปั่น CarryMe ออกจากบ้านไปที่สถานีรถไฟฟ้า พับ CarryMe แล้วหิ้วขึ้นรถไฟฟ้าไปลงสถานีใกล้ที่ทำงานแล้วปั่น CarryMe ต่อไปที่ทำงาน
2.ถ้าจากบ้านไปรถไฟฟ้ามันไกลไป คุณหิ้ว CarryMe ขึ้นรถแล้วขับรถไปจอดที่จอดรถของรถไฟฟ้า หรือหิ้ว CarryMe ซ้อนมอเตอร์ไซค์ไปรถไฟฟ้า หลังจากนั้นก็หิ้ว CarryMe ขึ้นรถไฟฟ้าไปได้เลย
3.ถ้าคุณขับรถไปเที่ยวต่างจังหวัดคุณก็เอา CarryMe ติดรถไปด้วย เมื่อไปถึงที่พักให้ลองใช้ CarryMe ปั่นไปตามสถานที่ต่างๆเช่นเข้าเมือง ไปกินข้าว ไปซื้อของ คุณจะได้เที่ยวไปในตัวซึ่งมันดีกว่าการขับรถแน่นอนเพราะการที่คุณใช้ชีวิตในการเดินทางให้ช้าลงคุณจะได้เห็นอะไรรอบๆตัวระหว่างทางในเมืองท่องเที่ยวนั้นๆได้มากขึ้น
4.ลองนึกภาพการเอา CarryMe ขึ้นเครื่องบินหรือขึ้นรถไฟ เมื่อลงจากเครื่องบินหรือรถไฟแล้วคุณปั่น CarryMe เข้าเมือง และใช้ในการเดินทางท่องเที่ยวใกล้ๆโดยไม่ต้องพึ่งพารถโดยสารเลย จะบอกว่าผมเคยทำมาแล้วนะเอาจักรยานขึ้นรถไฟไปเมื่อลงจากรถไฟแล้วปั่นเที่ยว .... ฟินห์มาก
5. 6. 7. ฯลฯ ผมว่าจากที่ทุกคนได้อ่านการทดสอบของผมแล้วคุณคงทราบแล้วแหละว่า CarryMe นั้นต่อยอดการเดินทางและการท่องเที่ยวของเราได้มากมายสุดแล้วแต่จะจินตนาการเลย เพราะข้อสรุปจากการทดสอบนั้นแสดงให้เห็นแล้วว่า CarryMe เป็นรถที่ดีต่อการใช้ชีวิตของเราจริงๆ
ขอบคุณ BIKE-MONSTER.COM ที่ให้โอกาสผมได้ทดสอบ CarryMe ในครั้งนี้ และ พี่เอ็ม TaQ-Bike,หนุ่ย สติกเกอร์สวนผัก ที่ยอมลดความเร็วในการปั่นเพื่ออยู่เป็นเพื่อนผมและคอยส่งน้ำให้ตลอดทาง
หากใครสนใจรถดีๆ เล็ก เบา ทน คล่องตัว ตอบโจทย์ชีวิตคนเมืองหรือการท่องเที่ยวระยะใกล้อย่าง CarryMe ติดต่อสอบถามได้ที่
BIKE-MONSTER
Web : https://www.bike-monster.com/
Facebook : https://www.facebook.com/bike-monstercom-278575792223001/
Tel : 08-9441-2591
ทดสอบจักรยานพับ Pacific CarryMe ขนาดเล็กพกพาสะดวกกับระยะทาง 100 กิโลเมตรในงานปั่น TC100
การสนทนาใน 'Review' เริ่มโดย Emporio, 4 ธันวาคม 2017
ความคิดเห็น
การสนทนาใน 'Review' เริ่มโดย Emporio, 4 ธันวาคม 2017
-
แท็ก: