ความกล้าที่จะทำในสิ่งที่คนอื่นไม่กล้าทำ "Dare what others don’t" เป็นหัวใจสำคัญของนิสสัน หนึ่งในข้อพิสูจน์นี้ คือ โครงการ จีที อคาเดมี (GT Academy) โครงการสุดท้าทายที่คัดเกมเมอร์นักแข่งรถในโลกเสมือนมือฉมังมาเข้าแคมป์ฝึกหนักกับนักแข่งอาชีพจริงก่อนเข้าชิงชัยในมอเตอร์สปอร์ต และลบคำสบประมาทของใครหลายคนที่ว่าเด็กเล่นเกมไม่มีทางเป็นนักแข่งรถได้ เพราะในที่สุดโครงการ GT Academy สามารถปั้นนักแข่งดาวรุ่งมาประดับวงการมอเตอร์สปอร์ตระดับโลกได้หลายคน
ย้อนไปเมื่อ 15 ปีก่อน นิสสันร่วมกับเพลย์สเตชั่น ริเริ่มโครงการนี้ขึ้น จากความเชื่อมั่นใน "คน" ของนิสสัน ความเสมือนจริงในเกมจำลองการขับขี่รถยนต์ Gran Turismo และความกล้าที่จะคิดนอกกรอบของสองพันธมิตร ทำให้เกิดโครงการ GT Academy ขึ้น
ดาร์เรน ค็อกซ์ ผู้อำนวยการ นิสสัน โกลบอล มอเตอร์สปอร์ตในขณะนั้น และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังโครงการ Nissan GT Academy เคยกล่าวไว้ว่า นิสสันมองหานักขับรถแข่งจากกลุ่มคนที่ยังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าตัวเองมีศักยภาพ และนำพวกเขาออกจากโลกเสมือนจริงเข้ามาสู่โลกแห่งความเป็นจริงเพื่อพัฒนาความสามารถให้พวกเขาก้าวสู่ความสำเร็จ
นิสสันเองมีชื่อเสียงมากในการพัฒนารถสมรรถนะสูงหลายรุ่น โดยเฉพาะ Nissan GT-R R32 ที่ทีมวิศวกรของนิสสันทุ่มเทสุดตัวจนสามารถพัฒนารถที่รีดพลังได้มากถึง 600 แรงม้า เมื่อลงสนาม Japanese Car Touring Championship ในปี 1989 GT-R R32 กลายเป็นม้ามืดคว้าแชมป์ได้ในการลงแข่งครั้งแรก และยืนตำแหน่งแชมป์สุดแกร่งในรายการนี้ได้ถึง 5 ปีซ้อน ความสำเร็จนี้ทำให้ทีม นิสสัน มอเตอร์สปอร์ต หรือนิสโม (NISMO) มั่นใจที่จะนำรถรุ่นนี้ออกไปต่อกรกับแชมป์นานาชาติในการแข่งขันระดับโลก เริ่มต้นที่ Australian Touring Car Championship ในปี 1990 และเขี่ยแชมป์เดิมตกไปอย่างไม่เห็นฝุ่น จนกระทั่งนิตยสารดังของออสเตรเลียขนานนาม Nissan GT-R R32 ที่ลงแข่งในขณะนั้น ว่าเป็น "ก๊อดซิลล่า" แห่งมอเตอร์สปอร์ต และนี่เป็นที่มาของฉายาตลอดกาลของ GT-R นั่นเอง
เมื่อความกล้าท้าทายและความพร้อมมาเต็มพิกัด GT Academy เปิดรับนักเรียนรุ่นแรกในปี 2008 เริ่มจากการแข่งขันทั้งผ่านเครือข่ายเพลย์สเตชันและในการแข่งขันพิเศษกับเครื่องซิมูเลเตอร์ เพื่อคัดผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดจากประเทศต่างๆ มาเข้าร่วมเก็บตัวและฝึกแบบเข้มข้นกับรถแข่งจริง ที่สนามซิลเวอร์สโตน ประเทศอังกฤษ ภายใต้การดูแลของทีมมอเตอร์สปอร์ตของนิสสันและนักแข่งอาชีพ
ในตอนแรก มีเสียงวิจารณ์และข้อสงสัยมากว่าโครงการนี้จะปั้นนักแข่งได้จริงหรือ เพราะทักษะการขับในสนามแข่งจริงกับในซิมูเลเตอร์นั้นต่างกันมาก แต่ในที่สุด GT Academy ผ่านฉลุยชนะทุกคำสบประมาทได้
เริ่มจากในผู้ชนะคนแรกของโครงการ คือ ลูคัส ออร์โดเนซ หนุ่มสเปนวัย 23 ปี ที่กระโดดเข้าร่วมรายการมอเตอร์สปอร์ตระดับโลกจนคว้าแชมป์รายการเลอมังส์ 24 ชั่วโมง (Le Mans 24 hour) ถึง 2 ครั้ง ต่อด้วยการแข่งขันอีกหลายรายการ ในอีก 2 ปีถัดมาแชมป์ GT Academy ยุโรปปีที่ 3 ยานน์ มาร์เด็นโบโรห์ วัย 19 ปี มุ่งหน้าต่อในสายนักแข่งอาชีพ หลังจากได้ใบอนุญาตการแข่งรถยนต์ระหว่างประเทศแล้วก็ตามรอยรุ่นพี่เข้าแข่งในดูไบ 24 ชั่วโมง คว้าชัยชนะในเลอมังส์ และการแข่งรถที่นั่งเดียว (Single-seater Racing) และหนุ่มน้อยคนนี้เองที่โซนี่นำเรื่องราวของเขามาเล่าผ่านภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ "Gran Turismo แกร่งทะลุไมล์"
ประเทศไทย เข้าร่วมโครงการนี้ในปีที่ 6 ของ GT Academy และได้ปั้นนักแข่งให้วงการมอเตอร์สปอร์ตหลายคน อาทิ ฐนโรจน์ ธนาสิทธิ์นิธิเกตุ หรือเบ๊บ แชมป์คนแรกของไทย ที่ต่อมาคว้าแชมป์จากรายการ Nissan Micra Cup จากแคนาดา และณัฐยศ ศิริกายะ หรือ เมี่ยง THEMIANG ที่เป็นม้ามืดเอาชนะในรายการฟินนิช ทัวร์ริ่ง แชมเปี้ยนชิพ 2017 รุ่น V-1,600 cc แบบเซอร์ไพรซ์คนทั้งสนาม แต่เขายังคงไม่ทิ้งแพสชันของอี-มอเตอร์สปอร์ต จนได้เป็น 1 ใน 4 ตัวแทนจากเอเชียเข้าแข่ง Olympic Virtual Series (OVS) ครั้งแรกที่โตเกียวในปี 2021
GT Academy เป็นโครงการที่ไม่เพียงแต่ท้าทายขนบเดิมๆ แต่สร้างแรงบันดาลใจให้คนค้นหาศักยภาพของตัวเอง ก้าวออกนอกกรอบที่เคยคิด เคยทำ และเปิดโอกาสใหม่ๆ ในการเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง ใครมองหาแรงบันดาลใจของตัวเองอยู่ จะลองไปชมภาพยนตร์เรื่อง "Gran Turismo แกร่งทะลุไมล์" ที่ฉายอยู่ในตอนนี้ก่อนก็ได้ แล้วพัฒนาตัวเองตามแนวคิดของนิสสันที่ "กล้าทำในสิ่งที่คนอื่นไม่กล้า" แล้วจะพบความเก่งในตัวคุณ
GT Academy โปรเจคต์พลิกโลก ปั้นเซียนเกมสู่แชมป์มอเตอร์สปอร์ต ความสำเร็จจากความกล้าท้าทายความเชื่อเดิม
การสนทนาใน 'News' เริ่มโดย News, 2 กันยายน 2023
ความคิดเห็น
การสนทนาใน 'News' เริ่มโดย News, 2 กันยายน 2023
-
แท็ก: