กล้องดิจิตอลเหล่านี้จะประจำการอยู่ตามสี่แยกต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ โดยเฉพาะแยกขนาดใหญ่และถนนสายสำคัญ ทำหน้าที่ตรวจจับคนขับรถฝ่าไฟแดง พร้อมกับออกใบสั่งเรียกเก็บเงินถึงบ้าน นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่ตรวจตรารถต้องสงสัยที่วิ่งผ่านไปมาตามท้องถนนอีกด้วย นับเป็นการแบ่งเบาภาระหน้าที่ของตำรวจอีกทาง ต่อจากนี้ใครทำผิดจะมีภาพบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ตามด้วยจดหมายให้ไปเสียค่าปรับฐานฝ่าฝืนกฎจราจร โครงการกล้องไฮเทคถูกทดลองใช้ครั้งแรก วันที่ 30 ธันวาคม ภายใต้การดูแลของพล.ต.ต.ภาณุ เกิดลาภผล รอง ผบช.น. (ดูแลจราจร) ผู้เป็นต้นคิดโครงการนี้ การทำงานของเครื่องตรวจจับจะมี 2 ส่วนด้วยกัน คือ ระบบจับภาพผู้กระทำผิดซึ่งเป็นการทำงานของกล้องดิจิตอล และระบบศูนย์ควบคุมที่ทำหน้าที่นำภาพที่จับได้มาประมวลผล การทำงานจะเป็นไปตามขั้นตอน คือ ถ่ายภาพการกระทำผิดในรูปแบบแฟ้มข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมบันทึกรายละเอียดไว้ชัดเจน หลังจากนั้นระบบจะส่งภาพผ่านระบบสื่อสารโครงข่ายแบบ ADSL ไปยังศูนย์ควบคุมกลาง ทำการเปรียบเทียบข้อมูลยานพาหนะที่กระทำผิด พร้อมตรวจสอบความชัดเจนของภาพอีกครั้ง ก่อนพิจารณาพิมพ์ใบสั่งจัดส่งไปทางไปรษณีย์เพื่อเรียกชำระค่าปรับ ในชั้นนี้มีการติดตั้งกล้องดิจิตอลทั่วกทม.แล้ว 30 จุด คือ 1.แยกรัชดาฯ-ลาดพร้าว 2.แยกบ้านม้า 3.แยกคลองตัน 4.แยกอโศกเพชร 5.แยกวิทยุ-เพลินจิต 6.แยกซังฮี้ 7.แยกพญาไท 8.แยกโชคชัย 4 9.แยกนิด้า 10.แยกอุรุพงษ์ 11.แยกประดิพัทธ์ 12.แยกรัชดาฯ-พระราม 4 13.แยกลำสาลี 14.แยกบ้านแขก 15.แยกบางพลัด 16.แยกนรินทร 17.แยกราชประสงค์ 18.แยกอโศกสุขุมวิท 19.แยกสาทร 20.แยกตากสิน 21.แยกโพธิ์แก้ว 22.แยกพัฒนาการ-ตัดรามฯ 24 23.แยกร่มเกล้า 24.แยกศุลกากร 25.แยกเหม่งจ๋าย 26.แยกท่าพระ 27.แยกประเวศ 28.แยกอังรีดูนังต์ 29.แยกประชานุกูล 30. แยกบางโพ โดยกล้องดังกล่าวแบ่งการทำงานออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.ตัวกล้อง 2.ตัวเซ็นเซอร์ 3.ตัวคอมพิวเตอร์ประเมินผล เมื่อไฟแดงทำงาน ตัวเซ็นเซอร์ทำงาน มีการฝ่าไฟแดงออกไปกล้องจะถ่ายภาพจากนั้นจะประมวลผลด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่โคนเสาซึ่งเป็นกล่องเหล็ก ตัวคอมพิวเตอร์ก็จะส่งข้อมูลมาที่ศูนย์สั่งการและควบคุมจราจร (บก.02) มาขึ้นที่จอมอนิเตอร์ใน บก.02 โดยเครื่องจะอ่านอัตโนมัติว่าเป็นรถของใคร ซึ่งทางกองบัญชาการตำรวจจราจร ได้เชื่อมต่อเครือข่ายกับกรมการขนส่งที่ศูนย์รัตนาธิเบศร์ เพื่อบอกสีรถ ยี่ห้อรถ ชื่อเจ้าของรถ เมื่อได้รายละเอียดจึงพิจารณาพิมพ์หมายหรือใบสั่งต่อไป โดยผู้ทำผิดกฎจราจรจะถูกกล้องบันทึกภาพไว้ เมื่อหลักฐานครบถ้วนเจ้าหน้าที่จะแนบหมายเรียกส่งไปถึงบ้าน ซึ่งภาพที่ส่งไปจะมี 3 ภาพ คือ ภาพก่อนการกระทำความผิด ภาพขณะกระทำความผิด และภาพเฉพาะทะเบียนรถ โดยในภาพจะปรากฏชื่อสถานที่ วันเวลากระทำความผิด ความเร็วของรถ เห็นทั้งตัวรถและไฟสัญญาณ โดยจะส่งให้ภายใน 7 วัน หลังกระทำความผิด โดยเจ้าของจะต้องมาชำระค่าปรับตามที่กำหนดไว้ในหมาย นอกจากเสียค่าปรับแล้วยังมีการตัดแต้มคะแนนอีกด้วย ใครที่ทำผิดกฎจราจรแล้วถูกจดหมายใบสั่ง จะต้องมาชำระค่าปรับตามจุดเปรียบเทียบปรับที่จัดไว้ คือ จุดเปรียบเทียบปรับกรมการขนส่งทางบกจตุจักร จุดเปรียบเทียบปรับกรมการขนส่งทางบกบางนา จุดเปรียบเทียบปรับกรมการขนส่งทางบกตลิ่งชัน จุดเปรียบเทียบปรับกรมการขนส่งทางบกบางขุนเทียน สน.คู่ขนานลอยฟ้า สน.ใต้ทางด่วนพระราม 4 สน.ตู้กำแพงเพชร สน.วิภาวดี จุดเปรียบเทียบปรับ(บก.จร.เก่า) ภายใน 7 วัน อัตราโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 1,000 สำหรับรถคันแรกที่ทำผิดประเดิมกล้องไฮเทค ถูกบันทึกภาพไว้ได้ตอนตี 4 วันที่ 30 ธันวาคม บริเวณแยกอโศกสุขุมวิท ถนนรัชดาภิเษก แขวงและเขตคลองเตย เป็นรถยนต์หมายเลขทะเบียน ทร-59 กทม. ซึ่งเป็นรถยนต์แท็กซี่ ของสหกรณ์แท็กซี่รวมมิตร เลขที่ 1296/67-68 ถ.กรุงเทพ-นนทบุรี แขวงและเขตบางซื่อ กทม. นอกจากนี้ยังมีอีกหลายร้อยรายที่ถูกกล้องจับบันทึกไว้ ใครเป็นใครต้องลุ้นกันตอนรับจดหมาย!!? "โครงการระบบตรวจจับสัญญาณไฟจราจร เป็นหนึ่งในการช่วยลดปัญหาการให้ผู้ขับขี่มีวินัยไม่ฝ่าฝืนสัญญาณจราจร ทางกองบัญชาการตำรวจจราจร จึงได้ทดลองนำกล้องระบบตรวจจับผู้ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรมาใช้ แค่ช่วงทดลองก็พบว่าในแต่ละคืนมีคนทำผิดกฎจราจรกว่า 2 พันราย เพราะกลางคืนไม่มีตำรวจอยู่กลางสี่แยก ซึ่งกลายเป็นช่องว่างทำให้คนไม่เคารพกฎหมายทำผิดกฎจราจรและอาจเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ เมื่อมีการติดตั้งกล้องอิเล็กทรอนิกส์ช่วยจับผู้กระทำผิด ก็จะเป็นประโยชน์กับเจ้าหน้าที่และลดการเกิดอุบัติเหตุได้ "นอกจากนี้ อุปกรณ์ดังกล่าวยังลดความขัดแย้งระหว่างผู้ใช้รถใช้ถนนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะการทำผิดจะถูกบันทึกไว้เป็นภาพถ่ายที่เห็นชัดเจน โดยทางบก.จร.จะส่งหมายเรียกให้มาชำระค่าปรับ แต่ถ้าหากไม่มาก็จะทำเรื่องไปยังกองทะเบียนเพื่ออายัดการต่อทะเบียนทันที ซึ่งการติดตั้งกล้องเหล่านี้หากมีหลายๆ แยก ก็จะเป็นการดี อย่างน้อยก็จะทำให้ผู้ขับขี่เกรงกลัว แม้ไม่มีเจ้าหน้าที่อยู่ประจำแยก ซึ่งประโยชน์สูงสุดในการมีเครื่องตรวจจับชิ้นนี้ คือ ลดการสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้รถใช้ถนนเอง และยังเป็นการลดกำลังพลเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะได้แบ่งไปตรวจตราความเรียบร้อยด้านอื่นแทน" พล.ต.ต.ภาณุ กล่าว ถ้าผู้ใช้รถใช้ถนนมีวินัยไม่ทำผิดกฎจราจร ก็คงไม่ต้องสิ้นงบไปกับอุปกรณ์เหล่านี้!!
น่าจะมีจับพวก จั้มสตาร์ทด้วยนะครับ อันตรายพอกัน ออกตัวก่อนไปเขียว ส่วนมากพวกแมงกะไซด์ทั้งหลาย น่าโดนเหมือนกัน