มาทำกาบเสาประตูคาร์บอนไฟเบอร์กันครับ คุณสมบัติของคาร์บอนไฟเบอร์คือ ความแข็งแรง ทนความร้อนสูง เป็นสารประกอบประเภท Composite ลอง search หาอ่านเพิ่มเติมในเว็บเกี่ยวกับคำว่า Composite Technology หรือ Carbon Fiber ดูได้ครับ หรือหาอ่านใน wikipedia.com ก็ได้ครับ แต่ที่เรากำลังจะทำกันไม่ได้ใช้คุณสมบัติที่แท้จริงใด ๆ เลย :cry: เอาแค่สวยเท่านั้น ยี่ห้อต่าง ๆ ที่ทำขายกันเช่น Varis, Nismo, Chargespeed ก็เอาแค่สวยเช่นกัน เพราะกาบเสาประตูมันไม่ได้มีความจำเป็นอะไรต้องไปทำให้มันแข็งแรงนัก ถ้าจะให้แข็งแรงจริง ๆ ก็ต้องทำมันทั้งประตูกันนั่นล่ะ แบบพวกรถแข่งน่ะครับ สำหรับผ้าคาร์บอนไฟเบอร์ บางคนอาจหาซื้อแบบที่เขาทำสำเร็จเป็นแผ่นเคลือบเรซิ่นและมีเทปกาวด้านหลังติดเรียบร้อยแล้วมาใช้ก็ได้ ยิ่งง่ายเลย เพราะแค่ใช้คัตเตอร์ตัด ๆ ๆ แล้วก็แปะ ๆ ๆ ก็ได้แล้ว แต่เราไม่เอา เราไม่ทำแบบนั้น มันสำเร็จรูปเกินไป ง่ายเกินไปเราไม่ชอบ (จริง ๆ ที่ไม่ชอบเพราะหาซื้อไม่ได้ 555) เตรียมอุปกรณ์ดังนี้ครับ - ผ้าคาร์บอนไฟเบอร์ ลายสอง* ประมาณเมตรละ 3,500 แต่ขึ้นกับหน้ากว้างด้วยนะครับ (ตอนนี้ราคามหาโหด 'เมกาเหมาไปทำอาวุธและเสื้อเกราะหมด ราคาสูงกว่าเมื่อสองสามปีก่อนเกือบเท่าตัว) แต่ไม่ต้องซื้อเยอะก็ได้ครับ แนะนำให้ซื้อสักครึ่งเมตรพอครับ หรือสัก 30 ซ.ม. ก็ได้ครับ บางร้านเขาก็แบ่งขายให้ครับ เพราะเหลือแน่ ๆ ครับ ยกเว้นทำชิ้นงานเจ๊งจนต้องทำใหม่ * สำหรับผ้าคาร์บอนฯ มันมีหลายลาย ที่ใช้กันส่วนมากเป็นหลายขวาง (ทวิล) ซึ่งก็มีย่อย ๆ อีก บอกร้านว่าซื้อลายสอง คือมันจะไขว้กันแนวตั้งสองเส้นแนวขวางสองเส้น ส่วนอีกลายที่ใช้กันเยอะรองลงมาคือลายแบบตารางหมากรุก เรื่องลายก็แล้วแต่ชอบและกำลังทรัพย์เลยนะครับ เพราะแต่ละลายเนี่ยมันราคาไม่เท่ากัน เพราะแต่ละลายมันก็หนาไม่เท่ากัน - ใยไฟเบอร์กลาส ผมจำเบอร์ไม่ได้ เลือกซื้อแบบที่ทอเป็นผืนผ้านะครับ เพราะใช้ง่าย ไม่รุ่ย ไม่ร่วงหล่นเละเทะนัก บอกทางร้านว่าขอเบอร์ที่มันหนา ๆ หน่อย ตารางเมตรละไม่กี่สิบบาท - เรซิ่น (ใช้โพลีเอสเตอร์เรซิ่นนะครับ เพราะราคาไม่แพง บอกร้านเค้าว่าเอาไปทำพวกบอดี้รถ) ประมาณกิโลฯ ละ 100 บาท (แค่ก.ก.เดียวก็เหลือ ๆ แล้วครับ ไม่ต้องซื้อเยอะ) แต่ถ้าจะทำบริเวณที่ต้องโดนความร้อนเยอะ ๆ เช่นฝากระโปรง ฝาครอบเครื่อง ปลอกท่อไอเสีย ฯ ควรใช้ Epoxy Resin แทน แต่ราคาแพงกว่าเยอะ แต่คุ้มครับ เพราะผมใช้โพลีเอสเตอร์เรซิ่นกันฝาครอบเครื่อง ใช้ไปไม่นานมันก็กรอบและเหลืองเลย (ให้นึกถึงพลาสติกที่โดนความร้อนมาก ๆ) - Cobalt (ตัวเร่งปฏิกิริยา) ประมาณ 30 กว่าบาท บางร้านตอนซื้อเรซิ่นบอกให้คนขายเขาผสม Cobalt ให้เลยก็ได้ครับ สะดวกดี จะได้ไม่ต้องเสียเวลามาผสมเอง - Hardener (ตัวทำแข็ง ฟังชื่อแล้วได้อารมณ์ ) ประมาณ 30 กว่าบาท - แปรงทาสี ขนาดแปรงขึ้นกับขนาดของวัสดุที่จะทำครับ เลือกให้เหมาะ ๆ ถ้าเป็นมือใหม่ ควรเลือกของดี ๆ และหลาย ๆ อัน เพราะกันเจ๊งครับ เพราะถ้าคุณยังผสมสัดส่วนไม่คล่อง มันจะแข็งเร็วมาก และถ้าล้างอุปกรณ์ไม่ทัน ก็....โบกมือบ๊ายบายครับ ที่ให้เลือกของแพงหน่อยเพราะขนแปรงจะไม่ร่วงมาก จะได้ไม่ต้องมาพะวง - ไม้ไอติม เอาไว้คนสารต่าง ๆ - กระป๋อง เอาไว้ใส่สาร เลือกแบบหนา ๆ หน่อย และเป็นแบบปากกว้าง ๆ เช่น ขัน อย่าใช้แก้วพลาสติก เพราะปากแคบ เนื่องจากในปริมาณเรซิ่นเท่า ๆ กัน แก้วปากแคบเรซิ่นจะโดนอากาศน้อยกว่าเรซิ่นที่ใส่ในขัน ทำให้เรซิ่นที่ใส่แก้วมีการกระจายตัวน้อย หากเกิดผสมส่วนผสมเข้มข้นไปจะทำให้มันทำปฏิกิริยากันเร็ว จนแข็งเร็ว ยังไม่ได้ทำอะไร หรือยังทำอะไรไม่เสร็จเลย - Acetone ตัวทำละลาย เอาไว้ล้างอุปกรณ์ ราคาจำไม่ได้ครับ แต่ไม่แพงครับ ไม่กี่สิบบาท แนะนำให้ซื้อสัก 2-3 ขวดเลยครับ เผื่อไม่พอ จริง ๆ ใช้ทินเนอร์ล้างอุปกรณ์แทนก็ได้ครับ แต่ทินเนอร์มันจะมัน ๆ ควรเอาไว้ล้างตอนจะเลิกทำหรือกำลังเก็บของ หรือตอนอะซิโตนหมด เพราะอะซิโตนมันมีส่วนผสมหลักคือแอลกอฮอล์ ใครเรียนสายวิทย์มาอาจคุ้น ๆ เพราะเป็นน้ำยาที่ใช้ล้างอุปกรณ์เคมี - กระป๋องใส่ Acetone - น้ำยา PVA เป็นน้ำยาลอกแบบ ประมาณ....จำไม่ได้ แต่ไม่แพงครับ หรือถ้าต้องการงานเนียน ๆ ก็ใช้ Wax สำหรับลอกแบบได้ครบ ถามที่ร้านมีขายแน่นอน แต่ไม่ใช่ Wax ที่ใช้เคลือบรถนะครับ - Monostylene (โมโนฯ) เป็นน้ำยาทำละลาย เอาไว้ผสมกับเรซิ่น เพราะเรซิ่นมันจะค่อนข้างข้น เวลาคนตอนผสมสารต่าง ๆ อาจมีให้เกิดฟองอากาศได้ ก็ผสมโมโนฯ สัก 1-2 ฝา เพื่อให้มันเหลวขึ้น และเผื่อใช้ยามฉุกเฉินในกรณีที่ผสมเรซิ่นเข้มข้นเกินไป เพราะจะทำให้แข็งตัวเร็วขึ้น พอผสมโมโนฯ ให้มันเหลวขึ้นก็จะช่วยให้มันจับตัวช้าลงไปบ้างเล็กน้อย แต่!!!! หน้าที่หลักของโมโนฯ ไม่ได้เอาไว้เจือจางนะครับ แค่ช่วยให้เรซิ่นมันเหลวขึ้น ใช้ง่ายขึ้น จะผสมมากน้อยขึ้นกับประสบการณ์ ความชำนาญ และขึ้นกับชิ้นงานที่จะทำครับ - กระดาษทรายน้ำเบอร์ 1000, 600, 360, 240, 120 ถ้ามือใหม่ไม่แนะนำให้ใช้เบอร์ 120 หรือต่ำกว่านี้เพราะมันหยาบมาก เดี๋ยวคุณเผลอมันมือ ขัดตะบี้ตะบันชิ้นงานเป็นรอยเต็มแน่ ๆ ร้านที่ผมซื้ออุปกรณ์เป็นประจำชื่อ "เรซิ่นอาร์ต" อยู่เยื้อง ๆ ม.ศรีปทุม ถ้ามาจากเกษตรจะถึงก่อนนิดนึง อุปกรณ์เหมือนจะเยอะ แต่ถ้าได้ลองทำบ่อย ๆ แล้วจริง ๆ ก็ไม่เยอะ หลัก ๆ ของส่วนผสมคือ เรซิ่น, cobalt, hardener แค่ 3 อย่างนี้เท่านั้นเอง ที่เหลือคือตัวช่วย ผมเคยโพสต์การหุ้มผ้าคาร์บอนไฟเบอร์ไปครั้งหนึ่ง รายละเอียดเกี่ยวกับเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย และร้านที่ขายของ ลองดูในลิงค์นี้นะครับ http://rcweb.net/forums/showthread.php?t=187 รูปนี้ที่ทำเสร็จแล้วครับ
มาเริ่มกันเลยครับ 0. เริ่มจากใช้ไม้บรรทัดวัดกาบเสาประตูให้เรียบร้อย ใช้กระดาษหรือกระดาษหนังสือพิมพ์ก็ได้วัดแล้วเขียนแบบไว้ จากนั้นใช้กรรไกรหรือคัตเตอร์ตัดให้เรียบร้อย เอาไปทาบ ๆ ดูว่าตรงหรือไม่ เบี้ยวมั้ย รถคุณมีกาบเสาประตูหน้าและหลังด้วยก็ต้องทำสองอันนะครับ เพราะมักไม่เท่ากัน และไม่ต้องทำทั้งซ้ายขวานะครับ ทำแค่ข้างเดียวก็พอ เอาไว้สลับด้านกันได้ จากนั้นตัดผ้าคาร์บอนฯ เตรียมไว้ล่วงหน้าเลยครับ แนะนำให้ทำทีละข้าง เช่นทำข้างซ้ายก่อน การตัดผ้าคาร์บอนฯ ไม่ต้องตัดตามแบบกระดาษที่วัดมานะครับ เราเน้นทำง่าย ๆ โดยตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแทนครับ ดูจากรูปที่สองที่ปูผ้าคาร์บอนฯ แล้วเป็นตัวอย่าง คือเราทำชิ้นงานเรียบ ๆ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าให้เสร็จก่อน แล้วค่อยมาตัดให้ตรงตามแบบกระดาษทีหลัง เพราะจะง่ายกว่า และเราเน้นทำชิ้นงานบาง ไม่หนา ยิ่งหนายิ่งยุ่ง ตัดก็ยาก * การตัดผ้าคาร์บอนฯ ให้ง่าย ให้ใช้เทปกาวกระดาษ แปะทับบนผ้าคาร์บอนฯ เป็นแนวยาวตามรูปทรงที่จะตัด และให้ตัดทับบนเทปกาวอีกที คือตัดตรงกึ่งกลาง เพื่อหลีกเลี่ยงการตัดผ้าคาร์บอนฯ โดยตรง เพราะตัดยาก มันรุ่ยง่าย 1. เตรียมวัสุดเรียบ ๆ แข็ง ๆ ของผมใช้แผ่นกระจกที่เลาะมาจากประตูบ้านที่ไม่ได้ใช้แล้ว เพื่อใช้รอง 2. ทา PVA สักสองชั้น พยายามอย่าให้เกิดฟองอากาศ อาจใช้ฟองน้ำจุ่มแล้วลูบ ๆ ไปบนกระจกให้เรียบ ๆ ทิ้งไว้จนแห้ง แล้วค่อยทับอีกหนึ่งชั้น ทิ้งให้แห้งสนิท
3. ผสมเรซิ่นครับ โดยผสมเรซิ่น + cobalt + ตัวทำแข็ง สำหรับสัดส่วนในการผสมเวลาซื้อให้ถามคนขายให้ละเอียดนะครับ หรือขอสูตรตารางเค้ามาด้วยก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น ใช้เรซิ่น 40 กรัม + cobalt 2 หยด + ตัวทำแข็งประมาณ 10 หยด (จำนวนหยดขึ้นกับอุณหภูมิ เช่น ทำกลางวัน ทำกลางคืน ถ้าทำตอนกลางคืนจะมีความชื้นสูงกว่ากลางวัน ควรหยดตัวทำแข็งเพิ่มเล็กน้อย สัก 10-15 %) อาจผสมโมโนฯ สักหนึ่งฝา กะเอาให้มันเหลวขึ้น คนง่ายขึ้น เพื่อให้ฟองอากาศที่เกิดจากการคนส่วนผสมมันลอยและแตกตัวหมดไปเยอะที่สุด จากนั้นทาเรซิ่นให้ทั่ว พยายามทาให้เรียบ ๆ ขั้นตอนนี้ อาจใช้เจลโค้ตแทนเรซิ่นก็ได้ ซึ่งมันจะข้นมาก ๆ ร้านทั่วไปมักใช้เจลโค้ตที่ชั้นนอกสุด เพื่อเพิ่มความหนาและใส ซึ่งเจลโค้ตจริง ๆ มันก็คือเรซิ่นที่ผสมแป้งทัลคั่มและสารอีกตัวจำชื่อไม่ได้ เพื่อให้มันข้น และลดการเกิดฟองอากาศได้ดี การผสมเจลโค้ตต้องผสม cobalt และตัวทำแข็งเพิ่มจากปกติเป็นสองเท่า เพราะมันข้นกว่าปกติเยอะ ถ้าใช้เจลโค้ตต้องทาให้เรียบ ๆ ร้านเจ๋ว ๆ ทั่วไปมักใช้การพ่นแทน จากนั้นทิ้งไว้สักพัก ไม่น่าเกิน 30 นาที ให้เกือบแห้ง ปกติเรียกว่าให้อยู่ในระยะ Finger Print หรือพอเอานิ้วแตะ ๆ ดูแล้ว มันไม่เลอะเทอะนิ้วมือ เกือบแห้ง แต่ยังไม่แห้ง แตะแล้วเป็นรอยนิ้วมือที่เรซิ่นที่ทาไว้ ซึ่งไม่ควรทิ้งให้แห้ง เพราะถ้าแห้งแล้วมาทาทับสารเคมีมันจะไม่จับตัวกันสนิทร้อยเปอร์เซ็นต์
4. พอชั้นเรซิ่นเริ่มเข้าระยะ Finger Print ก็ปูผ้าคาร์บอนฯ ทับได้เลย ค่อย ๆ ใช้มือกดเบา ๆ ระยะนี้เนื้อเรซิ่นจะเหนียวเล็กน้อยจะช่วยให้ผ้าคาร์บอนฯ ยึดเกาะได้ง่าย จัดเรียงผ้าให้ดี ให้ลายตรง ๆ สวย ๆ ไม่เบี้ยว จากนั้นผสมเรซิ่นสัดส่วนเดิม ควรผสมโมโนฯ เล็กน้อย เพื่อให้เหลว ๆ หน่อย จะได้ซึมเข้าเนื้อผ้าได้ดี ไม่ต้องใช้เจลโค้ตนะครับ เจลโค้ตเอาไว้ใช้ชั้นแรกหรือชั้นนอกสุดชั้นเดียวพอ ผสมเสร็จแล้วก็ทาบาง ๆ กด ๆ แปรงหน่อย ชั้นนี้อย่าทาหนามาก เน้นทาน้อย ๆ และควรกดแปรงให้เรซิ่นซึมเข้าเนื้อผ้าเยอะ ๆ พยายามให้มันเรียบสุด ๆ อาจใช้กระดาษแข็ง เช่น ปกนิตยสารมันพับหลาย ๆ ชั้นแล้วค่อย ๆ กดเบา ๆ ไล่ตามลายผ้าเพื่อรีดเรซิ่นให้มันเรียบ ๆ บาง ๆ ที่สุด การหุ้มผ้าให้ค่อย ๆ ปูทีละนิด แล้วอย่าเพิ่งกดจนแน่น เดี๋ยวเบี้ยวแล้วจะดึงไม่ออก เมื่อวางผ้าดีแล้วให้จัดลายผ้าให้สวยงาม ค่อย ๆ ทำ จากนั้นให้ใช้ลูกกลิ้งยาง (ซื้อที่ร้านอีกนั่นแหละ) กดทับเพื่อไล่อากาศ ให้กดจากตรงกลางไล่ไปตามขอบ ๆ เรื่อย ๆ ขั้นตอนนี้สำคัญมาก เพราะถ้ามีอากาศอยู่มันจะไม่แข็งแรง ติดไม่แน่น และไม่เรียบ แต่ปกติผมชอบใช้มือนี่แหละครับกดๆ ไล่ไปเรื่อย ๆ แต่ต้องสวมถุงมือยางนะ การหุ้มผ้า ควรให้มีชายผ้าเลยจากขอบวัสดุออกมาประมาณ 1.5-2 นิ้ว เพื่อเอาไว้ตัดแต่งภายหลังได้สะดวก อ้อ....... เวลาทำงาน อย่าทำในบ้าน ให้ทำในที่โล่ง อากาศโปร่ง และควรสวมถุงมือยาง (20 บาท ได้เกือบ 6 คู่) และมีผ้าปิดปาก สำหรับผ้าปิดปากควรชุบน้ำนิดนึง ให้หมาด ๆ เพื่อป้องกันฝุ่นละอองที่อาจเล็ดลอด เพราะ น้ำยาเรซิ่นมีฤทธิ์เป็นกรด หากโดนเข้าให้ใช้สบู่ล้าง หรือถ้าหนัก ๆ ก็ใช้ผงซักฟอกก็ได้ แต่อย่าบ่อย เพราะมันจะกัด
5. เมื่อปูผ้าแล้ว ทาเรซิ่นทับแล้ว จากนั้นรอสักแป๊บ จนถึงระยะ Finger Print ก็ได้ ให้ปูใยไฟเบอร์กลาสทับได้เลย อย่าลืมตัดให้มีขนาดเท่า ๆ กับผ้าคาร์บอนฯ ก่อนนะครับ ค่อย ๆ ปูทับให้เรียบ ๆ ใช้แปรงเปล่า ๆ กดทับให้เรียบ จากนั้นผสมเรซิ่นสัดส่วนเดิม แล้วทาทับ ชั้นนี้ไม่ต้องทาบางมาก ให้หนานิดนึง แต่ไม่ต้องหนามาก เดี๋ยวไม่เรียบ ต้องมาเสียเวลาขัดอีก ทิ้งไว้จนแห้งสนิทสัก 1 คืน ถ้าใจร้อนก็เอาตากแดดเปรี้ยง ๆ หรือเอาไดร์เป่าผมนั่งเป่าไปเรื่อย ๆ แต่แนะนำให้ทิ้งไว้สัก 1 คืน เพราะต้องให้ชัวร์ว่าชั้นแรกที่ทาไว้มันแข็งจับตัวดีแล้ว 6. พอแข็งใช้ได้แล้ว ก็เอาน้ำฉีด ๆ ใส่ ใช้มีดคัตเตอร์ค่อย ๆ เซาะลอกชิ้นงานออกมา เพราะน้ำยา PVA พอโดนน้ำมันจะละลาย ทำให้ลอกชิ้นงานได้ง่าย คราวนี้ก็จะได้เห็นชิ้นงานเรียบ ๆ ใสปิ๊งแวววาว ถ้าโชคดีชั้นแรกทาเรซิ่นหรือเจลโค้ตดี ไม่มีฟองอากาศ ชิ้นงานเรียบกริ๊บ ไม่ต้องพ่นแล็กเกอร์ทับเลย เพราะมันเงาแว้บดีอยู่แล้ว จากนั้นก็ฉีดน้ำล้างน้ำยา PVA ให้หายลื่นจนหมด 7. เอาแบบกระดาษที่เคยวัดและตัดเอาไว้มาทาบ ใช้ไม่บรรทัดและปากกาขีดให้เป็นรอยบนชิ้นงาน ควรตัดจากด้านหลัง คือ ให้คว่ำชิ้นงานไว้เหมือนเดิม แล้วใช้ปากกาขีดให้เป็นรอย แล้วใช้คัตเตอร์ค่อย ๆ ตัดตามรอย ใช้ใบมีดคม ๆ ยิ่งดี ค่อย ๆ กด หากกดแรงไปอาจทำให้ขอบ ๆ มันปริแตกได้ เดี๋ยวต้องเสียเวลามานั่งขัดแต่งขอบอีก ตัดเสร็จก็จะได้ตามรูป
หากชั้นแรกทาไว้ไม่ดีมีรอยฟองอากาศเล็ก ๆ ขนาดเท่ารูเข็ม ถ้ามีไม่เยอะก็ไม่เป็นไร ทำเองใช้เอง ขำ ๆ ไม่ได้เอาไปขายใครก็ไม่เท่าไหร่ แต่ถ้ามีเยอะ ได้เหนื่อยกันล่ะคราวนี้ เดี๋ยวค่อยว่ากันตอนท้าย 8. ตัดเสร็จเรียบร้อยก็ทิ้งให้แห้ง อ้อตอนตัดก็ตัดตอนที่มันเปียก ๆ ก็ยิ่งดี เพราะมันจะนิ่ม ๆ นิดนึง ตัดง่ายหน่อย จากนั้นก็ใช้เทปกาวสองหน้า แนะนำใช้ของ 3M ที่สีแดง ๆ อะครับ ซื้อที่ Home Pro ได้ ม้วนใหญ่ม้วนละประมาณ 180 บาท แปะขอบ ๆ ให้ทั่ว จะแปะมากน้อยให้ทั่วแค่ไหนกะเอาเองละกันครับ เอาแค่ให้แน่นสุด ๆ ของผมแปะทั่วชิ้นงานเลย เพราะกลัวหลุด อุตส่าห์ทำจนเหนื่อย แปะเทปกาวสองหน้าเสร็จก็ไปแปะ ๆ เทียบ ๆ ดู แล้วก็แปะจริงเลย อ้อ อย่าลืมเช็ดผิวกาบเสาประตูให้สะอาดก่อน รถใครเคลือบ Wax มา แล้วเคลือบตรงกาบเสาประตูมาด้วย ให้ล้างให้สะอาดก่อน เพราะ Wax บางตัวมีส่วนผสมของคาร์นูบา มันจะมัน ๆ เดี๋ยวติดไม่แน่น ติดเสร็จแล้วก็จะได้ประมาณนี้ ใครลองทำดูแล้ว อย่าลืมโพสต์รูปมาให้ดูกันมั่งนะครับ
สำหรับใครที่ทาชั้นแรกไม่ดี มีฟองอากาศเยอะ ทำง่าย ๆ แต่ไม่ง่ายดังนี้ครับ ต้องใช้การโป๊วครับ อ้าว.... ใครโป๊วไม่เป็นคงซวย ผมล่ะคนหนึ่ง กว่าจะโป๊วและขัดจนโอเคทำจนเละไปหลายรอบ ซื้อสีโป๊วมาเลยครับ กระป๋องเล็กพอ กระป๋องละร้อยกว่าบาท จริง ๆ สีโป๊วมันก็คือเรซิ่นที่มีผสมส่วนผสมหลัก ๆ 2-3 ตัว เข้าไป ให้มันใช้ง่าย ๆ ขัดง่าย ๆ เพราะเรซิ่นเพียว ๆ มันแข็งและขัดยากมาก แล้วก็ซื้อสีที่ใช้ผสมเรซิ่นมาครับ กระปุกเท่าสีโปสเตอร์เล็ก ๆ เองครับ ใช้สีดำแบบทึบแสงนะครับ (เพราะมันมีแบบโปร่งแสงด้วย) ผสมสีโป๊วแบะสีดำให้เข้ากัน (ใส่สีดำนิดเดียวพอ) แล้วผสม hardener (ตัวทำแข็ง) ต้องใช้ hardener ที่แถมมากับสีโป๊วนะครับ สัดส่วนก็ตามข้างกระป๋องครับ จากนั้นก็ใช้เกรียงโปีวปิดรูฟองอากาศทุกรูปให้หมด ทิ้งไว้จนแห้งแล้วใช้กระดาษทรายเบอร์ 240 หรือ 360 ค่อย ๆ ขัด จนเรียบ จะเห็นว่าสีโป๊วสีดำจะไปอุดรูฟองอากาศจนหมด จากนั้นใช้กระดาษทรายขัดไล่จากเบอร์ 360 -> 600 -> 800 -> 1000 ไปเรื่อย ๆ สังเกตว่าขัดจนมันไม่มีเสียงเวลาขัด แสดงว่าเรียบดีแล้ว ทิ้งไว้ให้แห้ง แล้วพ่นด้วยแล็กเกอร์ แนะนำยี่ห้อไพแล็ค หรือ เลย์แลนด์ เพราะเงาใสได้ใจมาก หรือจะส่งเข้าอู่พ่นแล็กเกอร์แล้วอบเลยก็ได้ แต่ต้องเสียหลายตังค์หน่อย ไม่น่าต่ำกว่าห้าร้อย ส่วนหากใครทาชั้นแรกดีแล้ว ไม่มีฟองอากาศหรือไม่น้อย ไม่ต้องพ่นแล็กเกอร์ก็ได้ หรือจะพ่นก็ได้แล้วแต่ชอบ พ่นแล็กเกอร์ควรพ่นอย่างน้อย 3 ชั้น จะมากกว่านี้เท่าไหร่ก็ได้แล้วแต่ชอบเลยว่าอยากได้ความ 'เงาลึก' แค่ไหน อ้อ.... ลืม เวลาทาเสร็จชั้นหนึ่ง ๆ แล้ว ต้องแช่แปรงกับอะซิโตนเสมอนะครับ ไม่งั้นเดี๋ยวแข็งใช้ไม่ได้พอดี พอทำเสร็จชั้นสุดท้ายก็ล้างให้สะอาด ของผมเองก็มีฟองอากาศเต็มเลย ขนาดโป๊วปิดรูแล้ว หลัก ๆ คือ ทาชั้นแรกไม่ดี เพราะไม่ได้ใช้เจลโค้ต และคนส่วนผสมเร็วไป และโป๊วสีไม่เป็น เลยปิดรูปไม่หมด แต่โดยรวมก็โอเค ทำเองใช้เอง ไม่เนียน 100% ก็ไม่เป็นไร ทำเสร็จผ้าคาร์บอนฯ ที่เหลือก็เก็บไว้ทำอะไรเล่นต่อไปก็ได้ครับ ส่วนมาผมชอบเก็บเศษผ้ามาทำพวงกุญแจบ้าง ทำทับทับซ้อน ๆ กันหลายชั้นเป็นขายึดแบตเตอรี่บ้าง เพราะเสียดายผ้า.... แพงเหลือเกิ๊นนนน..... โชคดีครับ
ความรู้และทักษะหลัก ๆ ก็ได้รับการถ่ายทอด และได้รับแรงบันดาลใจ (Inspiration คำนี้ตอนนี้กำลังฮิต) มาจากร้าน Create Fiber และความใจดีของพี่ต้องเจ้าของร้านครับ ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้
สวยดีครับ เป็นงานฝีมือมากๆ ผมใจร้อนและยังผสม สัดส่วนต่างๆ ยังไม่ค่อยดีเท่าไร แต่ผมอยากทราบ วิธีการทำแบบ ว่าเราสามารถใช้อะไรเป็นแบบได้บ้างครับ ที่ผมลองทำใช้กระดาษแข็ง ผิวออกมาเลยไม่เรียบ
แบบผมใช้กระจกครับ ที่บ้านมีแผ่นกระจกเก่า ๆ เหลืออยู่ ใช้กระดาษแข็งก็ได้ครับ แต่ซื้อสติ๊กเกอร์แผ่นใหญ่ ๆ ตามร้านเครื่องเขียนหรือ B2S มาตัดทับกระดาษแข็งอีกทีก็ได้ครับ บางทีผมก็ใช้แบบนี้ กระดาษมันจะได้ไม่รุ่ย
แบบเรียบๆ ก่ใช้กระจก หรือแผ่นอะครีลิค(แต่ควรลูบกาวกันซึมก่อน) แบบโค้งงอ ผมใช้ฟิวเจอร์บอร์ด หรือก่เกลาโฟมแล้วลูบด้วยกาวกันซึม..