คมชัดลึก : เริ่มเข้าต้นฤดูร้อน รถยนต์ก็ต้องเอาใจใส่กันมากหน่อย อากาศร้อน ระบบแอร์ในรถก็ต้องทำงานกันหนักส่งผลให้เครื่องทำงานกันไม่น้อยกว่าระบบแอร์ หลายคนคงต้องหมั่นกรวดน้ำใน ระบบหล่อเย็น กันบ่อยจากที่หลายๆ วันครั้งก็ควรจะเป็นทุกวันก่อนออกรถในตอนเช้า ฝาหม้อน้ำเปิดปิดกันบ่อยก็ต้องตรวจ ดูซีลยางใต้ฝา สปริงเปิดปิดวาล์ว ตามแรงดันของไอน้ำที่ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิก็ตรวจดูการทำงาน ถ้าเป็น รถเก่าหน่อย และไม่รู้ว่าจะตรวจดูอย่างไร ง่ายๆ ก็ เปลี่ยนใหม่ จะปลอดภัยกว่าอันหนึ่งไม่กี่ตัง น้ำในระบบหล่อเย็นตั้งแต่ยุคที่เครื่องยนต์ไม่ว่าจะเป็น เสื้อสูบ ฝาสูบทำด้วยโลหะผสม หรือเรียกง่ายๆ ว่าอลูมิเนียม น้ำที่ใช้กับเครื่องยนต์แบบนี้จะมีส่วนผสมของ น้ำยาเคมี หลายชนิดเพื่อป้องกันการอุดตันในระบบระบายความร้อน เพื่อป้องกันการสึกหรอที่เกิดจากกรดที่ทำให้ชิ้นส่วนผุกร่อน ที่เกิดจากความร้อนและการเผาไหม้จากห้องเผาไหม้ สารเคมีที่นำมาใช้มีด้วยกันหลายสูตรมีชื่อเรียกต่างกันไป ชื่อที่รู้จักเป็นกลางๆ ก็คือ คูลแลนท์ (ต่างกันกับสารเคมีหรือส่วนผสมที่ใช้กับแอนตี้ฟรีซ) ในรถใหม่ ป้ายแดง น้ำยาคูลแลนท์หรือ น้ำยาหล่อเย็น จะถูกผสมด้วยอัตราส่วนที่แน่นอนมาแล้วจากโรงงาน และในหนังสือคู่มือประจำรถก็มักจะมีบอกเอาไว้ว่าน้ำยาหล่อเย็นที่ใช้นั้นเป็นน้ำยาที่มีสารเคมีอะไรหรือห้ามใช้สารเคมีอะไรอยู่ด้วยแล้ว อัตราส่วนผสม ที่จะต้องใช้ก็เช่นกันจะมีบอกเอาไว้ จึงเป็นหน้าที่ของผู้ใช้รถที่จะต้องศึกษาถึงคุณสมบัติและวิธีการใช้งานอย่างเคร่งครัด รถเก่าที่ใช้มานานแล้วมากกว่าสิบปีมักจะเริ่มจาก ปะเก็นฝาสูบผุกร่อน ทำให้ น้ำซึมเข้าห้องเผาไหม้ แล้วถูกเผาให้กลายเป็นไอไปเมื่อมีการจุดระเบิด สาเหตุนี้เป็นที่มาของ น้ำหาย โดยไม่ทราบสาเหตุ และเช่นเดียวกัน ฝาสูบอลูมีเนียม เกิดการผุกร่อน น้ำหาย แบบเดียวกัน การแก้ไขก็ทำได้ไม่ยาก เปิดฝาสูบเปลี่ยนปะเก็นฝาสูบ ขัดหน้าฝาสูบ (ขัดนะครับไม่ใช่ใสฝาสูบ) ขัดฝาสูบแล้วดูว่ามีการผุกร่อนที่ผิวหน้าบ้างไหม ถ้ามีไม่ว่าจะมากหรือน้อย ส่งเข้าโรงกลึงที่เขารับซ่อมฝาสูบให้ เสียเงินไม่กี่ร้อย โดยเฉพาะคนที่ซื้อ รถมือสอง ที่มีอายุเกินกว่าสิบปีมาแล้ว ควรจะเสียเงินเปลี่ยนปะเก็นฝาสูบซ่อม (ผุกร่อน) ฝาสูบ ก่อนที่จะนำไปใช้งานกันอย่างจริงๆ จังๆ ก็จะตัดปัญหาเรื่อง น้ำหาย โดยหาที่มาที่ไปไม่พบ ถ้ารถเก่าใช้มานานแล้วต้องเติมน้ำกันอยู่บ่อยๆ และร้อยทั้งร้อยเติมกันแต่น้ำเปล่าๆ โดยไม่มีส่วนผสมของน้ำยาหล่อเย็น และจะซื้อน้ำยามาเติมก็ไม่รู้จะเติมกันอย่างไร เช่น เติมน้ำครึ่งขวด ทุกสองสามวันจะใส่น้ำยาเท่าไรเพราะไม่รู้อัตราส่วนผสม มีข้อแนะนำง่ายๆ เอากันตอนหน้าร้อนนี่แหละ ถ่ายน้ำในระบบระบาย ความร้อนออกจากหม้อน้ำ ไม่ต้องไปฟลัชช่งฟลัชชิ่งอะไร ถ่ายออกแล้วซื้อน้ำยารักษาหม้อน้ำหรือคูลแลนท์มา เอาที่มียี่ห้อน่าเชื่อถือหน่อย อ่านข้างกระป๋องดูว่าน้ำยาที่เราซื้อมานั้นใช้อัตราส่วนเท่าไรกับน้ำเปล่าเช่นสองต่อหนึ่งก็หมายความว่าน้ำยาหนึ่งกระป๋องหรือหนึ่งลิตรใช้น้ำสองลิตร ก็เอาน้ำยาผสมกับน้ำตามส่วนใส่ในแกลลอนสะอาด เขย่าให้เข้ากันแล้วเติมไปในหม้อน้ำ ถ้าไม่พอก็ผสมใหม่เติมจนเต็ม ถ้ามีน้ำผสมน้ำยาเหลืออยู่ก็เอาใส่แกลลอนปิดฝาให้แน่นเก็บไว้ท้ายรถ เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องเติมน้ำหม้อน้ำในคราวต่อไปก็เอาส่วนที่เหลือมาเติม หมดก็ผสมใหม่เก็บสำรองไว้ จะตัดปัญหาเรื่องการคำนวณหาอัตราส่วนในการเติมแต่ละครั้ง และน้ำยาหล่อเย็นหรือคูลแลนท์หรือน้ำยารักษาหม้อน้ำควรจะใช้ยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งเป็นประจำเพราะแต่ละยี่ห้อก็มี สูตรมีสารเคมี ที่ต่างกัน อย่าละเลยเรื่องนี้ครับถ้าคุณคิดว่าจะใช้รถไปอีกนาน เพราะการละเลยหรือประหยัดเงินค่าน้ำยาหล่อเย็นไม่คุ้มกันกับปะเก็นผุ ฝาสูบกร่อนทำให้น้ำหาย กำลังตกกินน้ำมันและท้ายที่สุดเครื่องร้อนจัดลูกสูบติดชาพท์ละลาย ถึงตอนนั้นจ่ายกันหน้ามืดแน่นอน ข้อมูลอ้างอิงมาจากลิ๊งค์นี้ครับ http://www.komchadluek.net/detail/20090315/5349/คูลแลนท์ใช้อย่างไรในหน้าร้อน.html
การเติมคูลแลนท์แบบผสมน้ำ เราควรถ่ายน้ำเก่าออกก่อน ล้างตะกอนเก่าออกให้สะอาด ปิดน๊อตถ่าย เติมคูลแลนท์ก่อน(เหลือไว้นิดหน่อย เติมในถังพัก) เติมน้ำใส่หม้อน้ำให้เต็ม ติดเครื่อง รอจนเครื่องร้อน วาล์วน้ำเปิด เห็นน้ำไหลวน ระดับน้ำจะลดลง ให้เร่งเครื่องค้างไว้เบาๆ แล้วเติมน้ำเบาๆจนเต็มจริงๆ แล้วปิดฝาหม้อน้ำ เติมน้ำในหม้อพักให้ถึงระดับ ตรวจการรั่วซึม จากนั้นลองวิ่งให้ถึงอุณหภูมิทำงานของเครื่อง กลับมาจอดจนเครื่องเย็นแล้วตรวจระดับน้ำซ้ำอีกครั้ง ทั้งที่หม้อน้ำ และหม้อพักน้ำ