พล.ต.ต.ภานุ เกิดลาภผล รอง ผบช.น.ผู้รับผิดชอบงานด้านการจราจร ตำรวจนครบาล แจ้งเตือนประชาชนโปรดหลีกเลี่ยงเส้นทาง 13 สะพานข้ามแยกทั่วกรุงเทพมหานครในชั่วโมงเร่งด่วน เช้า - เย็น เนื่องจากจะมีการ “ปรับปรุงพื้นผิวจราจร - ทุบทิ้งสร้างใหม่” มีกำหนดเริ่มเดือนสิงหาคม 2552 นี้ หลังจากที่กรุงเทพมหานครได้ตรวจสอบและประเมินสภาพโครงสร้างของสะพานเหล็กข้ามทางแยกทั่วกรุงเทพฯ จำนวน 13 แห่ง โดยเป็นสะพานที่ใช้งานมานานในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา ในส่วนผู้ใช้รถใช้ถนนที่พบเห็นโดยตรงคือพื้นผิวการจราจรกะเทาะ เห็นแผ่นเหล็กเป็นจุดๆ และในจุดที่เป็นรอยต่อสะพานที่ผิวคอนกรีตและวัสดุหลุดล่อนขรุขระ ราวสะพานหลุดขาด หรือบิดเบี้ยวผิดรูปจากการเกิดอุบัติเหตุแล้ว สิ่งสำคัญที่เป็นความเสียหายรุนแรงที่ผู้ใช้รถใช้ถนนมองไม่เห็นแต่ส่งผลต่อความปลอดภัยมากที่สุดคือในส่วนของโครงสร้างสะพาน ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่าต้องทำการซ่อมแซมบูรณะ เพราะสะพานมีความเสียหายและเสื่อมสภาพ โดยเฉพาะสะพานข้ามแยกอโศก-เพชรบุรีเป็นสะพานที่มีความเสียหายรุนแรงมากที่สุด ตัวโครงสร้างเกิดสนิมกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ โครงสร้างผุกร่อนและเสียรูป ซึ่ง กทม.จะต้องรื้อทิ้ง ก่อสร้างสะพานใหม่ทดแทนของเดิม ส่วนสะพานอื่นๆ เช่น สะพานข้ามแยกพระราม 9-รามคำแหง มีการชำรุดของน็อตยึดโครงสร้างหลวม หลุดขาด เสี่ยงต่อความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้าง สะพานข้ามแยกประชานุกูลพบยางรองคานสะพานเสื่อมสภาพ น็อตยึดแผ่นยางหลุดเอียงเสียรูป ขอบเหล็กรองรับแผ่นยางเป็นสนิม แตกร้าว สะพานข้ามแยกวงศ์สว่าง โครงสร้างคอนกรีตเสื่อมสภาพ กะเทาะหลุดล่อน เหล็กเสริมเป็นสนิม ทั้งนี้ จะมีสะพานที่ต้องดำเนินการซ่อมแซมปรับปรุงในโครงการนี้12 แห่ง ซึ่งสำนักการโยธา กทม.ได้หารือร่วมกับฝ่ายจราจร กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) สน.ที่เกี่ยวข้อง และบก.จร. เพื่อพิจารณาแผนการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบการจราจร โดยจัดแบ่งเป็น 4 กลุ่มตามพื้นที่ใกล้เคียงและถนนที่ต่อเนื่องในเส้นทาง คือ กลุ่ม 1 อยู่ในแนวถนนรัชดาภิเษก ถนนพหลโยธินที่เป็นเส้นทางหลักมีปริมาณการจราจรจำนวนมาก ประกอบด้วย… 1. สะพานข้ามแยกประชานุกูล ปิดการจราจรบนสะพานต่อเนื่องฝั่งละ 45 วัน 2. สะพานวงศ์สว่าง ฝั่งละ 45 วัน 3. สะพานเกษตร ปิดการจราจรต่อเนื่อง 15 วัน 4. สะพานรัชโยธิน ฝั่งละ 15 วัน 5. สะพานพงษ์เพชร ฝั่งละ 45 วัน กลุ่มที่ 2 อยู่บนถนนจรัญสนิทวงศ์ในแนวรัชดาภิเษกเช่นกัน แต่เป็นพื้นที่ของฝั่งธนฯ ประกอบด้วย… 1. สะพานท่าพระ ปิดการจราจรต่อเนื่องฝั่งละ 45 วัน 2. สะพานบางพลัด ฝั่งละ 45 วัน กลุ่มที่ 3 ในเส้นทางถนนพระราม 9 และถนนเพชรบุรี เป็นกลุ่มสะพานในพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก ประกอบด้วย... 1. สะพานข้ามแยกคลองตัน ปิดการจราจรต่อเนื่องฝั่งละ 45 วัน 2. สะพานพระราม 9 - รามคำแหง และ สะพานพระราม 9 - อสมท เบื้องต้นไม่มีการปิดการจราจร กลุ่มที่ 4 เป็นสะพานอิสระที่อยู่ห่างจากกลุ่มอื่น ประกอบด้วย... 1. สะพานสามเหลี่ยมดินแดง ปิดการจราจรต่อเนื่อง 30 วัน 2. สะพานพระรามที่ 4 (ไทย-ญี่ปุ่น) ปิดการจราจรฝั่งละ 45 วัน โดยขณะนี้ผู้รับเหมาได้เริ่มเข้าพื้นที่ สร้างนั่งร้าน เคลียร์พื้นที่ด้านล่าง รอวันพร้อมที่จะปิดสะพานห้ามใช้ต้นเดือน ส.ค.