สวัสดีครับ มากันอีกครั้งสำหรับการได้รับเชิญให้ร่วมทดสอบยาง ซึ่งในครั้งนี้เป็นของ Yokohama
ซึ่งกำลังจะเปิดตัวในชื่อรุ่น ADVAN dB (decibel)
ในขั้นแรกขอแปะข่าวอย่างเป็นทางการก่อนแล้วค่อยตามด้วยบททดสอบจากความรู้สึกส่วนตัวตามหลังนะครับ
-------------------------------------------------------------------------------------
โยโกฮามา เปิดตัวยางนุ่มเงียบ ADVAN dB (decibel) (แอดแวน ดีบี เดซิเบล)
โยโกฮามา ประเทศไทย จัดงานทดสอบยาง ADVAN dB (decibel) (แอดแวน ดีบี (เดซิเบล))
ซึ่งเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางในตระกูล ADVAN ที่มีประสิทธิภาพของความนุ่มเงียบได้มากที่สุด
ด้วยแนวคิด The Power of Silence (พลังแห่งความนุ่มเงียบ)
ซึ่งจัดขึ้น ณ สนามพีระเซอร์กิต พัทยา จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมา
โดยในงานทดสอบโยโกฮามา มร.ยาซูชิ อิอิดะ (Mr.Yasushi Iida) กรรมการผู้จัดการ
บริษัท โยโกฮามา ไทร์ เซลส์ ประเทศไทย จำกัด ได้เชิญสื่อมวลชน เข้าร่วมทดสอบสมรรถนะความนุ่มเงียบของยางรุ่นใหม่
ADVAN dB (decibel) (แอดแวน ดีบี (เดซิเบล)) โดยแบ่งการทดสอบเป็นส่วนต่างๆ คือ
การปล่อยรถไหลเพื่อดูระยะทางที่รถไหลเทียบกับยางรุ่นปัจจุบัน ES501 Desibel, การทดสอบระยะเบรค,
การทดสอบ N.V.H. ,การทดสอบการบังคับควบคุมทิศทาง และการทดสอบขับบนท้องถนนจริง
สำหรับตัวยาง ADVAN dB (decibel) เป็นยางที่เงียบที่สุด ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางของ Yokohama
ซึ่งทาง โยโกฮามาได้คิดค้นพัฒนาสูตรผสมเนื้อยางพิเศษเฉพาะ ADVAN dB Nano-Power Rubber
และส่วนผสมของ Micro Silica (ไมโครซิลิกา) ทำให้เนื้อยางมีความยืดหยุ่น
เพิ่มพื้นผิวหน้าสัมผัสของยางกับพื้นถนนได้อย่างนุ่มนวล ไร้เสียงรบกวน
ในประเทศไทย โยโกฮามา ไทร์ เซลส์ ประเทศไทย ได้นำยางรุ่น ADVAN dB (decibel) เข้ามาจำหน่ายผ่านตัวแทน
ซึ่งมีขนาดตั้งแต่ขอบ 15 นิ้ว ถึงขอบ 20 นิ้ว รวม 44 ขนาด เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในเมืองไทย
ซึ่งครอบคลุมรถยนต์นั่งขนาดเล็ก รถยนต์นั่งขนาดกลาง และรถยนต์สมรรถนะสูง
โดยยางรุ่น ADVAN dB (decibel) จะเริ่มจำหน่าย ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2554 เป็นต้นไป
ผู้สนใจสามารถสอบถามได้ที่ร้านผู้แทนจำหน่ายยางโยโกฮามา ทั่วประเทศ
-------------------------------------------------------------------------------------
เอาล่ะ ข่าวอย่างเป็นทางการจบไปแล้วก็มาถึงคราวบททดสอบผ่านความรู้สึกส่วนตัวกันบ้าง
ซึ่งในครั้งนี้พี่เก่ง RacingWeb ได้ถือโอกาสหยั่งเชิงในสนามเป็นครั้งแรก
หลังจากประสบอุบัติเหตุขาหักในโค้ง S1 เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ถือเป็นการกายภาพบำบัดไปในตัวด้วย
ในตอนได้รับเชิญนั้นได้รับเชิญไป 2 คน จึงใส่ชื่อไป 2 คนคือผมและพี่เก่ง
ซึ่งตอนนั้นพี่เก่งเองขาหักไว้รออยู่แล้ว ก็ตอบรับโดยยังไม่ค่อยมั่นใจนัก
เนื่องจากผลการ X-Ray ยังไม่น่าพอใจคือกระดูกยังไม่ติดกันซักเท่าไหร่
แต่หลังจากตอบรับการเชิญไปแล้ว พี่เก่งเองก็พยายามฟิตร่างกายเต็มที่
ทำกายภาพบำบัดทุกวันให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น เตรียมตัวไปลองขับรถทดสอบยาง และจะได้ทดสอบความพร้อมของร่างกายไปในตัว
ในวันทดสอบยางจริงๆทาง Yokohama นั้นมีรถบัสให้นั่งสบายๆ พร้อมที่พัก 1 คืน
แต่พี่เก่งเองดูแล้วคงไม่สะดวกที่จะเดินทางไปพร้อมรถบัส และคงไม่สะดวกที่จะพัก 1 คืน
จึงตัดสินใจขับรถไปกันเองเพื่อที่จะได้ไปเช้าเย็นกลับ
เช้าวันที่ 8 ก.พ. ผมไปหาพี่เก่งที่บ้านเพื่อไปรับและขับรถพี่เก่งไปสนามพีระให้ทันตามกำหนด
แต่เมื่อพี่เก่งเดินโดยใช้ไม้เท้าข้อมือแบบ 2 แขนเดินออกมา กลับเดินตรงไปที่ฝั่งคนขับ
พร้อมกับพูดขึ้นว่า "เดี๋ยวขับเอง..." เออ เอาก็เอาวะ อย่างน้อยถ้าต้องไปจอดแวะที่ไหนก็ได้จอดที่สบายๆ(ที่จอดรถคนพิการ) 555
ตลอดการเดินทางพี่เก่งก็ขับรถได้อย่างปกติดี ขาซ้ายที่หักก็สามารถเหยียบคลัชเปลี่ยนเกียร์ได้สบายๆ
โดยหมอบอกว่าตอนนี้ขาทำงานได้ด้วยเหล็กที่ดามไว้ การส่งน้ำหนักกดทับลงไปบ้างยิ่งช่วยกระตุ้นให้กระดูกติดกันเร็วขึ้นนั่นเอง
ก็สรุปว่าขับรถได้ ลงน้ำหนักเหยียบคลัชได้ แต่ยังรับน้ำหนักทั้งตัวยังไม่ได้
เราไปถึงสนามพีระก่อนรถบัสเล็กน้อย จึงอาศัยช่วงเวลาที่มีอยู่ให้พี่เก่งได้ซ้อมเดินขึ้นบันได
ให้ตายเถอะบันไดเล็กๆ 1 ขั้น หรือพูดง่ายๆว่าพื้นต่างระดับกัน 1 ขั้น พี่เก่งกับผมช่วยกันออกแบบท่าเดินอยู่ 10 นาที
เพราะพี่เก่งเองไม่เคยใช้ไม้เท้า 2 แขนเดินขึ้นบันไดมาก่อน จะทิ้งน้ำหนักลงขาข้างที่หักมากก็ไม่ได้
แต่ก็พอดีกับคณะสื่อมวลชนจากสำนักต่างๆลงรถบัสมาและลงทะเบียนกันเสร็จทันกันพอดี
เมื่อลงทะเบียนกันเสร็จก็เข้าสู่ห้องประชุมเพื่อให้คุณลุงญี่ปุ่น (Mr.Yasushi Iida)
กรรมการผู้จัดการ บริษัท โยโกฮามา ไทร์ เซลส์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวเปิดงาน
พร้อมกับเจ้าหน้าที่ของ Yokohama อธิบายถึงคุณสมบัติพิเศษต่างๆของยางรุ่น ADVAN dB (decibel)
โดยสรุปประเด็นหลักๆได้ดังนี้
ยาง Yokohama เองนั้นในรุ่นที่ผ่านมาถ้าเมื่อไหร่มีรหัส dB (decibel) จะหมายถึงการออกแบบมาเพื่อความเงียบ
และเมื่อใดที่คุณเห็นสัญลักษณ์ ADVAN นั่นจะหมายถึงรุ่นที่ออกแบบมาเพื่อความสุดของสมรรถนะ
หรือเรียกว่าได้ว่าถ้ามีคำว่า ADVAN อยู่ในรุ่นนั้นเมื่อไหร่มันก็คือตัว Top ด้านสมรรถนะของยางรุ่นนั้นนั่นเอง
แนวคิดของรุ่น ADVAN dB นั่นจึงหมายถึงการพัฒนายางที่มีความเงียบโดยยังคงมีสมรรถนะสูงสุด
คุณสมบัติหลักของ ADVAN dB (decibel) ตามข้อมูลที่ Yokohama ให้มานั้นประกอบด้วย
1. ดอกยางลายใหม่ของ ADVAN dB (decibel) ในรูปแบบไม่สมมาตร
2.โครงสร้างของ ADVAN dB (decibel) แก้มยางได้รับการออกแบบให้สูงขึ้น
เพื่อรองรับการขับขี่ได้อย่างมั่นคง และนุ่มนวล
3.ดอกยางแปรผัน 5 ขนาด ช่วยทำให้เกิดการกระจายความถี่ของเสียงที่ดี
4.ส่วนผสมเนื้อยางชนิดใหม่ ADVAN dB Nano Power Rubber โดยใช้สารโพลีเมอร์ และ Micro Silica ตัวใหม่
ผสานในเนื้อยาง ช่วยให้ผิวหน้ายางสัมผัสพื้นถนนได้มากขึ้น เพิ่มสมรรถนะการเกาะถนนที่ดีบนถนนเปียก
และช่วยลดความต้านทานการหมุน
5.บล็อกดอกยางที่มีรูปแบบการจัดเรียงร่องยางแบบต่อเนื่อง ส่งผลลัพธ์ที่เงียบ และความสามารถในการบังคับควบคุมที่ดี
6.ดอกยาง 3D ที่ไหล่ยาง ทั้งฝั่งด้านนอกและด้านใน เพิ่มสมรรถนะความแข็งแกร่งของดอกยางและลดเสียงรบกวน
เมื่อบรรยายสรุปเรื่องคุณสมบัติเสร็จก็มีการบรรยายสรุปสถานีทดสอบต่างๆ
โดยทาง Yokohama เองนั้นได้จัดการทดสอบให้เปรียบเทียบระหว่างยาง Yokohama ADVAN dB
กับยาง Yokohama DNA dB ES501 ซึ่งจริงๆแล้ว DNA dB ES501 นั้นขึ้นชื่อเรื่องความเงียบมากๆอยู่แล้ว
แต่ที่ Yokohama จัดใหนมาทดสอบแบบนี้เพื่อแสดงให้เห็นถึงเทคโนโลยีด้านการผลิตยางที่เพิ่มเติมเข้าไป
จนทำให้ ADVAN dB นั้นได้ทั้งความเงียบที่ยังเงียบมากๆเหมือนเดิมแต่ได้สมรรถนะที่เพิ่มขึ้นในรูปแบบ ADVAN นั่นเอง
เมื่อบรรยายสรุปเสร็จแล้วแล้วจึงเชิญสื่อมวลชนทุกท่านออกไปเริ่มการทดสอบแรก
*** เป็นที่น่าสังเกตว่า Yokohama ยอมทำการทดสอบให้เทียบกับยาง ES501 ของตัวเอง
ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความเงียบอยู่แล้ว นั่นหมายถึงว่า ADVAN dB จะเข้ามาแทนที่การขายของ ES501 ในตลาดเมืองไทยนั่นเอง
การทดสอบความต้านทานการหมุน (LOW ROLLING RESISTANCE)
เป็นการทดสอบการต้านทานการหมุนของยาง โดยปล่อยรถจากทางลาดในระดับเดียวกัน
แล้วให้ไหลลงมาอย่างอิสระแล้ววัดระยะทางที่ได้เทียบระหว่าง ES501และ ADVAN dB
วัดลมยางให้ได้ตามที่กำหนด
ขึ้นแท่นทางลาด
ระยะทางที่ได้จากการใส่ยาง ES501
เปลี่ยนล้ออีกชุดที่ใส่ยาง ADVAN dB
ขึ้นแท่น
ระยะทางที่ได้จากการใส่ยาง ADVAN dB
ผลจากการทดสอบครับ
ผลสรุปคือ ADVAN dB สามารถไหลได้ไกลกว่าโดยเฉลี่ย 15%
ซึ่งเป็นผลจากการออกแบบลายดอกยางเพื่อลดแรงเสียดทานการหมุน
จึงทำให้เมื่อใช้พลังงานที่เท่ากัน ADVAN dB จะหมุนได้ไกลกว่า ช่วยประหยัดพลังงานเพิ่มขึ้น
ณ สถานีทดสอบนี้ทำให้ผมเกิดคำถามขึ้นในใจว่า
ถ้ายางมีแรงเสียดท้านน้อยกว่า มันจะเกาะกว่ารุ่นเก่าได้ยังไง !?!?
คำตอบของคำถามนี้มีในสถานีต่อๆไปครับ ...
เมื่อเสร็จการทดสอบแรงต้านทานการหมุน Yokohama จึงเชิญคณะสื่อมวลชนไปรับประทานอาหาร
ก่อนไปที่ห้องอาหารผมเดินผ่านล้อ 2 ชุดนี้ครับ
ดูแล้วไม่น่าจะมีอะไร กับล้อเดิมของ Luxus กับล้อ APEX ที่เอาไว้ใส่ยางเพื่อทดสอบ
แต่เมื่อสังเกตดีๆแล้ว ...
555 ไม่มีอะไรครับ แค่เหตุบังเอิญที่เค้าเอาล้อที่ใส่ยางคนละยี่ห้อมาวางใกล้ๆกันในวันทดสอบยาง Yokohama ^_^
ไปดูการรับประทานอาหารกันดีกว่า
โต๊ะอาหารจัดในห้องชั้น 2 ที่ปกติแล้วห้องนั้นจะใช้เป็นห้องประชุมนักแข่ง
ไลน์อาหารแบบบุฟเฟ่ต์จัดที่ระเบียง ซึ่งมีอาหารอร่อยๆมากมาย
จริงๆการรับประทานอาหารไม่น่าที่จะต้องเอามาลงในรายละเอียดแต่ที่เอามาลงเพราะว่า ...
Webmaster RacingWeb ดันมาร่วมงานในรูปแบบ ขาเป๋ จึงลำบากมากๆหากจะต้องเดินขึ้นบันไดไปชั้น 2
เมื่อทางทีมงาน Yokohama เห็นถึงความลำบากจึงได้จัดห้องด้านล่างให้เรานั่งทานกันเป็นกรณีพิเศษ
พร้อมกับตักอาหารพร้อมน้ำดื่มลงมาให้ถึงที่
ดูแลเราดีเป็นพิเศษเลยครับ ขอบคุณมากๆ
แต่ทว่าน้องๆเค้าหยิบซูชิลงมาให้แต่ไม่ได้ตัก โชวยุ มาให้ด้วย ทางเราจะกินแล้วเหลือก็กลัวจะเสียน้ำใจของน้องๆ
จึงทำการกินซูชิ + น้ำพริกแบบไทยๆ ก็พอได้อยู่นะ
หลังจากรับประทานอาหารเสร็จก็เตรียมตัวทดสอบในสถานีต่างๆต่อ
กินอิ่มแล้วก็เริ่มมีแรงทดสอบสถานีอื่นๆต่อ
ฝูงรถแคมรี่ 2.0G ที่ใช้ทดสอบในสถานีที่เหลือ
Handling & NVH Station
ระหว่างฟังบรรยาย พี่เก่งก็แสดงการใช้อุปกรณ์ GT200 ในการหาวัตถุระเบิด
NVH (Noisy - Vibration - Harshness)
การวัดระดับความดังของดอกยาง - การสั่นสะเทือนของยาง - ความกระด้าง หรือ ความแข็งของยาง
โดยสถานีนี้จะเป็นการทดสอบขับรถผ่านเชือกเพื่อจะจับความรู้สึกและการตอบสนองของยาง
ซึ่งจะทำการเปรียบเทียบ ADVAN dB กับยางรุ่น ES501 จะมีการขึงเชือกไว้บนผิวถนนที่ทดสอบ
สองแบบ คือแบบถี่และแบบห่าง ด้วยความเร็ว 40 Km/hr ใช้ช่วงทางตรงหลังโค้ง 100R
หลังจากนั้นจะเข้าสู่ช่วง Handling โดยผ่าน S1 ด้วยความเร็ว 50 Km/hr เข้าช่วงสลาลม
แล้วเข้าช่วง Handling ช่วงที่สอง ที่ความเร็ว 60 Km/hr ผ่าน S2 แล้วโดนกรวยยางบังคับให้โค้งขวาแบบฝืนไลน์ปกติ
ผลการทดสอบช่วง NVH จับความรู้สึกยากครับ ไม่เห็นถึงความแตกต่าง
ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่ทราบมาคือความเงียบแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย
เพราะตัว DNA dB ES501 นั้นขึ้นชื่อเรื่องความเงียบอยู่แล้ว
ส่วนช่วง Handling ทั้งสองช่วง ตอนใช้ยาง ES501 ด้วยความเร็วเท่านั้นไม่ถึงกับทำให้รถเสียอาการ
แม้กระทั่งไม่รู้สึกเลยว่ารถกำลังจะเสียอาการ ตอนวนเข้ามาเปลี่ยนรถยังคิดอยู่ว่าแล้วแบบนี้จะเห็นความแตกต่างได้อย่างไร
พร้อมทั้งคิดว่าเจ้าหน้าที่อาจจะไม่ได้ปิดระบบ Traction Control ของตัวรถ
แต่พอเปลี่ยนรถเอาคันที่ใช้ยาง ADVAN dB ออกไปขับ กลับรู้สึกถึงการได้ Grip ที่เพิ่มขึ้น
คอนโทรลรถง่ายกว่า เข้าโค้งได้คมกว่าอย่างเห็นได้ชัดเจน
*** จากการหาข้อมูลเพิ่มเติม Camry 2.0G ไม่มีระบบ VSC (Vehicle Stability Control) กับ TRC (Traction Control)
ดังนั้นอาการของรถที่เกิดขึ้นจึงเป็นอาการดิบๆที่ไม่มีระบบใดๆช่วยรักษาเสถียรภาพการทรงตัวของรถเลย
Wet Braking Station
การทดสอบการเบรคในสภาวะพื้นเปียก ซึ่งใช้ช่วงทางตรงยาวหลังผ่านโค้งสุดท้ายของสนาม
โดยให้ขับมาด้วยความเร็ว 80 Km/hr เมื่อถึงจุดเบรคให้เบรคสุดเท้าระบบ ABS จะทำงานจนรถหยุด
เครื่อง VBOX ถูกติดตั้งเพื่อวัดระยะเบรค
ที่สถานีนี้ คันที่ติดตั้ง VBOX ไม่ได้ให้สื่อขับ เพียงแต่มีเจ้าหน้าที่ออกไปขับแล้วเก็บข้อมูล VBOX มาแสดง
เราได้ทดสอบเพียงแค่ใช้ความรู้สึกวัดเอาเท่านั้นเนื่องจากอุปกรณ์ VBOX มีจำกัดไม่ได้ติดตั้งในรถทุกคันครับ
สำหรับผมเองในสถานีนี้ไม่สามารถบอกอะไรได้เนื่องจากความผิดพลาดในการสื่อสารกับผู้ควบคุมการทดสอบ
จึงทำให้รอบที่ขับโดยใช้ยาง ADVAN dB นั้นวิ่งเข้าไปเบรคด้วยความเร็ว 100 กว่า Km/hr
เล่นซะกว่ารถจะหยุดก็เกือบเลยช่วงพื้นเปียกกันเลยทีเดียว แต่ก็สามารถถามความรู้สึกจากพี่เก่งได้ว่า
พี่เก่งใช้แรงเบรคน้อยกว่าในการใช้ยาง ADVAN dB
แต่จากข้อมูลที่เก็บได้จากคันที่ติดตั้ง VBOX ก็ระบุได้ว่าคันที่ใช้ยาง ADVAN dB นั้นได้ระยะเบรคที่สั้นกว่า 5%
จากการขับแล้วเบรคด้วยความเร็ว 80 Km/hr โดยระยะเบรคสั้นกว่ากันโดยเฉลี่ย 2.5 เมตร
Road Tour Station
สถานีการขับทดสอบในสภาวะการใช้งานจริง
เป็นการให้เราขับรถออกไปบนถนน เดินทางสู่ไร่องุ่น SilverLake ระยะทางไปกลับประมาณ 25 กิโลเมตร
เพื่อให้สัมผัสความนุ่มเงียบของยาง ADVAN dB
โดยขาไปผมเป็นคนขับ ส่วนขากลับพี่เก่งเป็นคนขับ ความรู้สึกในช่วงนี้ก็ได้ลองทดสอบความนุ่มหลายอย่างเช่น
การวิ่งออกไปเยียบตุ่มสะท้อนแสงตรงเส้นกลางถนน วิ่งเหยียบเส้นกลางถนน
รวมถึงสังเกตความนุ่มและเงียบตอนเหยียบเส้นขวางถนนที่เป็นเส้นขวางถี่ๆก่อนถึงช่วงทางแยก
ที่ SilverLake เราได้พบกับนางฟ้า ...
และรับประทานอาหารว่างร่วมกับคุณหลิน เจ้าหน้าที่ประสานงานของทาง Yokohama
ขากลับพี่เก่งบอกให้ช่วยถ่ายรูปมุมนี้ให้หน่อย
เป็นทางเดินลงสำหรับคนพิการครับ ที่นี่พี่เก่งไม่ต้องขึ้นบันได พี่เก่งเลยตั้งชื่อภาพนี้ว่า "กูมาถูกทาง"
ขากลับพี่เก่งเป็นคนขับกลับ
โดยรวมผมว่าก็เงียบและนิ่มดีนะครับ เพียงแต่ว่าถ้าจะพูดถึงเรื่องรถ Camry ที่มาให้ใช้ทดสอบนั้น
โดยพื้นฐานแล้วก็เป็นรถที่มีความเงียบและนุ่มนวลมากๆอยู่แล้ว ตรงนี้จึงขอไม่ออกความเห็นอย่างเต็มตัว
คงบอกได้แต่รวมๆว่า OK ครับ นิ่มและเงียบดี
เมื่อกลับมาถึงสนามพีระ ก็เข้าไปในห้องบรรยายอีกครั้งเพื่อฟังบรรยายสรุปและเปิดโอกาสให้สื่อทุกท่านถามคำถาม
โดยคำถามสำคัญคือรุ่นนี้มีขายเมื่อไหร่ในราคาเท่าไหร่ คำตอบได้ที่คือต้นเดือนเมษา ราคาแพงกว่า ES501 5-10%
เมื่อบรรยายสรุปเสร็จแล้วทาง Yokohama ก็ให้ทุกท่านเดินทางไปที่โรงแรม พูลแมน พัทยา ไอศวรรย์ รีสอร์ท
เพื่อพักผ่อนและรับประทานอาหารเย็นพร้อมกับชมการแสดงร่วมกัน
เมื่อไปถึงโรงแรมผมกับทางพี่เก่งซึ่งไม่ได้แจ้งว่าจะขอห้องพักจึงนั่งเล่นอยู่ที่ Lobby โรงแรม
ระหว่างที่สื่อท่านอื่นๆเช็คอิน ผมจึงมีเวลาได้เดินถ่ายรูปบรรยากาศของโรงแรมเล่น
รายการ Speed Channel ช่อง 72 ของทรู ก็ขอสัมภาษณ์คุณลุงญี่ปุ่นไปพลางๆ
นั่งอยู่ซักพัก ก่อนถึงเวลาเริ่มงานตอนเย็น ผมกับพี่เก่งจึงเดินล่วงหน้ามาที่ห้องรับประทานอาหารก่อน
เพราะพี่เก่งต้องใช้เวลาเดินมากกว่าคนอื่นเค้า
GT200 เริ่มทำงานหาตำแหน่งของกิน
นั่นไงเจอจริงๆด้วย
แต่แล้วจู่ๆพี่เก่งก็บอกว่าขอกูพักก่อน .... จะพักทำไมวะของกินอยู่ข้างหน้าแล้ว
ใช่ครับของกินอยู่ข้างหน้า แต่ห้องอาหารอยู่ชั้น 2 และไม่มีลิฟท์ ต้องเดินขึ้นบันไดตรงนี้
ใช้เวลาพอสมควรก็ถึงชั้นบน
เอาอีกแล้ว GT200 ชี้ไปทางห้องรับประทานอาหาร คราวนี้ชี้ทีเดียว 2 เครื่องเลย
บรรยากาศงานเลี้ยงอาหารตอนกลางคืนครับ
คุณลุงญี่ปุ่นกล่าวปิดงานการทดสอบยาง
มีการแสดงที่สนุกมากๆ
รวมถึงการร่วมเล่นเกมเพื่อแจกรางวัล
เมื่อพิธีการทุกอย่างจบลง ผมกับพี่เก่งจึงขอตัวกลับ เป็นอันเสร็จภารกิจทดสอบยาง Yokohama ADVAN dB
อ่อ ลืมเล่าไปอย่างนึง ในงานช่วงกลางคืนผมได้รับคำตอบเกี่ยวกับข้อสงสัยในตอนแรกว่า
ในเมื่อยางออกแบบมาให้มีแรงเสียดทานที่ต่ำกว่าเดิมในทางตรงจาก Station แรก
แล้วมันจะเกาะกว่าเดิมได้อย่างไร
คำตอบที่ได้คือ ด้วยโครงสร้างของยางและการออกแบบดอกยางนั้น จริงอยู่ว่าในทางตรงแรงเสียดทานจะต่ำกว่าเดิม
แต่ในทางโค้ง โครงสร้างและดอกยางจะแสดงประสิทธิภาพออกมาในขณะนั้นจนทำให้เกิดการเกาะถนนที่ดีมากๆในทางโค้ง
นั่นหมายความว่าในทางตรง คุณจะวิ่งได้ประหยัดขึ้นและเร็วขึ้น โดยยังคงความเกาะถนนเมื่อเข้าโค้งนั่นเอง
ขอจบการทำเสนอเพียงเท่านี้ครับ
ขอบคุณทีมงาน Yokohama ที่อุส่าห์ดูแลเราเป็นอย่างดี แม้พี่เก่งเองจะไปในลักษณะที่ไม่ได้พร้อม 100%
แต่ก็จะมีทีมงานคอยเดินตามและช่วยเหลือตลอดการทดสอบยางในครั้งนี้
ขอบคุณครับ
รูปและข้อมูล RacingWeb ได้รับเชิญให้เข้าร่วมทดสอบยาง Yokohama รุ่นใหม่ ADVAN dB (decibel)
การสนทนาใน 'Review' เริ่มโดย Emporio, 2 เมษายน 2011
ความคิดเห็น
การสนทนาใน 'Review' เริ่มโดย Emporio, 2 เมษายน 2011