10 คำถาม เจาะลึกรถแข่ง Super GT

การสนทนาใน 'Articles' เริ่มโดย RacingWeb, 13 มิถุนายน 2015

โดย RacingWeb เมื่อ 13 มิถุนายน 2015 เมื่อ 02:59
  1. RacingWeb

    RacingWeb Member Super Moderator

    41
    1
    8
    [​IMG]

    ...มันเป็นตอนเช้า.... ตอนเช้าของอีกวันหนึ่งที่อากาศร้อนอบอ้าวมากๆ

    ถ้าหากมีคนบอกผมว่า "ตอนนี้.. เรากำลังอยู่ในทะเลทราย" ผมจะไม่แปลกใจเลยสักนิด...

    ขณะที่ผมกำลังเดินเหงื่อไหลไคลย้อยอยู่นั้น ทันใดนั้น... ผมก็ได้ยินเสียงเครื่องยนต์ของรถแข่งคันหนึ่งกำลังวิ่งมาอย่างสุดกำลัง จากนั้นก็เชนเกียร์จาก 5 ลงมา 4 และลงมา 3 ผมรีบหันไปมองทันที เห็นบั้นท้ายของ Honda NSX-GT อยู่กลายๆ แต่เห็นได้ชัดเลยว่ามันกำลังเกาะไลน์เข้าโค้ง จากนั้นเพียงแค่เสี้ยววินาที มันก็ทะยานออกจากโค้งไปแบบสุดเกียร์ ปล่อยให้ผมอึ้งอยู่กับเสียงคำรามของเครื่องยนต์ VTEC Turbo อยู่พักใหญ่...

    [​IMG]

    [​IMG]

    ใช่แล้วครับ... ตอนนี้ผมกำลังอยู่ที่สนามแข่งรถที่ใหญ่ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นั่นก็คือ สนาม "ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต" ณ จังหวัดบุรีรัมย์

    วันนี้คือวันที่ 5 ตุลาคม 2557 ซึ่งเป็นวันที่ทำพิธี "เปิด" สนามแห่งนี้อย่างเป็นทางการ และที่น่าตื่นเต้นกว่านั้นก็คือ มันเป็น "วันแข่ง" (Race Day) ของสุดยอดรถแข่งทางเรียบของโลกอย่าง Super GT ซึ่งยกทัพขึ้นเรือจากเกาะญี่ปุ่นมาแข่งขันกันที่สนาม "ช้าง" อย่างยิ่งใหญ่ และสนามนี้ก็เป็นสนามที่ 7 ของฤดูกาล 2014 ด้วยใจรักในกีฬามอเตอร์สปอร์ตอย่างเต็มเปี่ยม การแข่งขันระดับโลกที่จัดขึ้นในประเทศไทยในครั้งนี้ ...มีหรือที่ผมจะพลาด?

    [​IMG]

    [​IMG]

    ขณะที่ผมนั่งชมการแข่งขันอย่างเร้าใจอยู่บน Grandstand ระหว่างนั้นก็มี "คำถาม" เกี่ยวกับรถแข่ง Super GT จากผู้ชมด้วยกันเอง "ลอย" เข้ามาในหูผมตลอดเวลา ในจังหวะนั้น ผมอยากจะหันไป "ตอบ" ให้เหลือเกิน ติดเสียแต่ว่า ผมกำลัง "ฟิน" กับเสียงคำรามของรถแข่ง Super GT ที่วิ่งไล่กันแบบเอาเป็นเอาตายอยู่บนแทร็ค ผมก็ได้แต่ "ปล่อย" คำถามเหล่านั้น...ผ่านไปแต่โดยดี

    จากวันนั้นก็ผ่านมา 3 เดือนแล้ว...

    ผมจึงถือโอกาสนี้ นำเอาคำถาม 10 ข้อเกี่ยวกับรถแข่ง Super GT ที่ผมได้ยินในวันนั้น มาเรียบเรียงเป็นบทความให้พี่ๆ น้องๆ ได้อ่านกันนะครับ
    เริ่มกันเลย! กับคำถามข้อที่ 1

    คำถามข้อที่ 1: การแข่งขัน Super GT คืออะไร?
    การแข่งขัน Super GT เป็นการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 1993 โดยแรกเริ่มเดิมทีนั้น ใช้ชื่อการแข่งขันว่า JGTC (Japanese Grand Touring Championship) ซึ่ง "ชื่อการแช่งขัน" ก็บอกเป็นนัยอยู่แล้วว่าเป็นการแข่งขันรถที่ถูกผลิตขึ้นในประเทศญี่ปุ่น (Japanese Domestic Car) และแข่งกันเฉพาะภายในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น

    [​IMG]

    [​IMG]

    [​IMG]

    [​IMG]

    [​IMG]

    หากแต่ในภายหลัง JGTC ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย สื่อมวลชนและแฟนๆ มอเตอร์สปอร์ตทั้งในและนอกประเทศต่างให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ทำให้มีรถแข่งสัญชาติอื่น บินข้ามน้ำข้ามทะเลอื่นเพื่อมาร่วมแข่งขันอย่างคึกคัก อย่างเช่น Audi, BMW และ Mercedes Benz นอกจากนั้น JGTC ยังมีการจัดการแข่งขัน "นอก" เกาะญี่ปุ่นบ่อยครั้งขึ้น และในที่สุด คณะผู้จัดการแข่งขันจึงตัดสินใจเปลี่ยนชื่อจาก "JGTC" เป็น "Super GT" เพื่อเพิ่มความเป็น "สากล" ตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา

    [​IMG]

    [​IMG]

    Super GT ถือเป็นรายการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศญี่ปุ่น ในการแข่งขัน 1 ฤดูกาลจะเริ่มเปิดฉากแข่งขันตั้งแต่ต้นปี ยาวไปจนถึงสิ้นปี ปกติแล้ว สนามที่ใช้แข่งขันส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศญี่ปุ่น เช่น สนามทวินริง โมเตกิ, สนามฟูจิ สปีดเวย์, สนามซูซูก้า เซอร์กิต เป็นต้น นอกจากนั้น Super GT ยังมีการจัดการแข่งขันในสนามต่างประเทศ เช่น "สนามเซปัง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต" ประเทศมาเลเซีย รวมไปถึง "สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต" ของบ้านเราด้วย

    โดยปกติแล้ว ใน 1 ฤดูกาลจะทำการแข่งขันทั้งหมด 8 สนาม และสนามสุดท้ายหรือที่เรียกว่า "สนามของแชมป์" จะถูกกำหนดให้เป็น "สนามทวินริง โมเตกิ" (Twin Ring Motegi) ซึ่งเป็นสนามบ้านเกิดของ Super GT ตั้งอยู่ในจังหวัดโทชิหงิ ประเทศญี่ปุ่น

    [​IMG]

    นอกจากนั้น การแข่งขันของ Super GT ยังสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ "SprintRace" และ "Endurance Race" โดยส่วนใหญ่แล้ว Super GT จะแข่งแบบ "Sprint Race" หรือเรียกว่า "การแข่งระยะสั้น" โดยใช้ระยะทาง 250 หรือ 300 กิโลเมตร หรือไม่ก็แข่งกันแบบโหดๆ อย่าง "Endurance Race" ซึ่งใช้ระยะทางมากถึง 1000 กิโลเมตร ซึ่งการแข่งขันสุดโหดนี้จะจัดขึ้นที่สนาม Suzuka Circuit เท่านั้น โดยใช้ชื่อการแข่งขันว่า "SUZUKA 1,000KM"

    [​IMG]

    ส่วนการแข่งขันที่สนาม "ช้าง อินเตอร์แนชั่นแนล เซอร์กิต" ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมานั้น เป็นสนามที่ 7 ของฤดูกาล 2014 จัดเป็นการแข่งประเภท "Sprint Race 300km" ซึ่งใช้รอบการแข่งทั้งหมด 66 รอบสนามครับผม

    [​IMG]

    คำถามข้อที่ 2 : รถแข่ง Super GT คืออะไร? แบ่งเป็นกี่รุ่น?

    รถแข่ง Super GT จัดเป็นรถแข่งทางเรียบประเภท "GT" (Grand Touring) ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 รุ่น ได้แก่ GT300 และ GT500 ตัวเลข 3 หลักที่ตามหลังตัวอักษร "GT" นั้นบ่งบอกถึง "แรงม้าสูงสุด" นั่นหมายความว่า GT300 คือรถแข่งที่มีแรงม้าไม่เกิน 300 แรงม้า และในทำนองเดียวกัน รถแข่ง GT500 คือรถแข่งที่มีแรงม้าไม่เกิน 500 แรงม้านั่นเอง

    รถแข่ง Super GT นั้น ดูเผินๆ แล้ว ก็เหมือนกับการเอา "สปอร์ตคาร์" ที่มีขายอยู่ตามโชว์รูม มาโมดิฟายเครื่องยนต์ เซทอัพช่วงล่าง แล้วก็เอาลงสนามไปวิ่งแข่งกัน แต่ความจริงแล้วมันไม่ได้ง่ายดายขนาดนั้น รถแข่ง Super GT เป็นรถแข่งที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตัวถังหรือบอดี้ บางทีมถึงกับสร้างเครื่องยนต์ตัวใหม่ขึ้นมาเพื่อลงแข่งในรายการนี้โดยเฉพาะ เพราะฉะนั้น รถแข่ง Super GT จึงเป็นเหมือน "ไข่ในหิน" เพราะมันคือสุดยอดเทคโนโลยีที่บริษัทต้นสังกัดทุ่มเทเวลา และเงินทุนมหาศาล เพื่อพัฒนาให้รถแข่งเหล่านี้ก้าวขึ้นมาเป็น "เรือชูธง" เพื่อแสดงถึงความเป็น "ผู้นำ" ในอุตสาหกรรมยานยนต์

    [​IMG]

    [​IMG]

    สำหรับรถแข่งรุ่นพี่เบิ้มอย่าง GT500 นั้น จะมีความ "อิสระ" ในการโมดิฟายรถค่อนข้างมาก เริ่มตั้งแต่ "เครื่องยนต์" ที่อนุญาตให้ใช้เครื่องยนต์อะไรก็ได้แต่ต้องเป็นยี่ห้อของตัวเอง ส่วนตำแหน่งเครื่องยนต์ก็ตามใจชอบเลย จะวางหน้า วางกลาง วางหลังก็แล้วแต่เลย แต่สุดท้ายแล้ว แรงม้าที่เค้นออกมาได้ ต้องห้ามเกินที่กำหนดไว้ นั้นก็คือ 500 แรงม้านั่นเอง

    [​IMG]

    [​IMG]

    สำหรับรถแข่ง GT500 ที่ถูกออกแบบมาเพื่อสู้ศึกใน Super GT โดยเฉพาะ จะถูกกำหนดให้ใช้เครื่องยนต์ V8 ความจุ 3.4 ลิตร และห้ามใช้ระบบอัดอากาศใดใดทั้งสิ้น แต่ในปีหน้าจะมีการยกเลิกการใช้ "เครื่องยนต์ V8 3.4 ลิตร ไม่มีระบบอัดอากาศ" และเปลี่ยนไปใช้ "เครื่องยนต์ 4 สูบแถวเรียง 2.0 ลิตร เทอร์โบชาร์จเจอร์" ซึ่งการเปลี่ยนกฎในครั้งนี้เพื่อต้องการให้สอดคล้องกับกติกาของ DTM (German Touring Car Masters) และในช่วงปลายๆ ของฤดูกาล 2014 ก็มีรถแข่งบางคัน ที่เปลี่ยนมาใช้เครื่อง 2.0 ลิตร เทอร์โบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

    ในส่วนของแชซซี (Chassis) ก็สามารถโมดิฟายได้เต็มที่เลย ไม่ว่าจะเป็นบอดี้หรือช่วงล่าง แต่ขอให้รูปร่างหน้าตา ไฟหน้าไฟท้าย ยังคงเหมือนกับ "รถเวอร์ชั่นโปรดัคชั่นคาร์" ที่มีขายอยู่ในโชว์รูม เท่านั้นเป็นพอ

    ถ้าจะพูดถึง "รถแข่งหัวแถว" ของคลาส GT500 ในฤดูกาล 2014 ก็คงหนีไม่พ้นรถแข่ง "สุดยอดขุนพล" จาก 3 ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่น นั่นก็คือ Lexus RC-F, Honda NSX-GT และ และ Nissan GT-R

    [​IMG]

    ส่วนของกติกาในรุ่นของ GT300 นั้น จะ "เข้มงวด" กว่ารุ่นพี่สักนิดหน่อย เนื่องจาก ทางผู้จัดอยากให้รถแข่ง GT300 มีความ "ใกล้เคียง" กับรถเวอร์ชั่น "โปรดัคชั่นคาร์" ให้มากที่สุด ความ "ใกล้เคียง" ในที่นี้หมายถึงในแง่ของ กำลังของเครื่องยนต์ บอดี้ และแอโรพาร์ท เพราะฉะนั้น รถแข่ง GT300 จึงโมดิฟายได้ไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับ GT500

    [​IMG]

    [​IMG]

    ถ้าเปรียบเทียบกับการแข่งขันรถ GT ของฝั่งยุโรปแล้ว กติกาของ Super GT ของญี่ปุ่นจะค่อนข้าง "หลวม" กว่า หรือพูดได้ว่าไม่ค่อยเข้มงวดมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องของแชซซีและแอโรพาร์ท (Chassis and Aero-part) ที่เปิดโอกาสให้โมดิฟายได้ "อย่างเต็มที่" เพราะเหตุนี้จึงทำให้รถแข่งแต่ละคันถูกโมดิฟายอย่างสุดขั้ว รถแข่งสายเลือดซามูไรอย่าง Super GT จึงขึ้นแท่นเป็นรถแข่งประเภท GT ที่ "เร็ว" ที่สุดในโลกอย่างไม่ต้องสงสัย

    ถ้าพูดถึงรถแข่ง Super GT ท่านผู้อ่านหลายท่านคงจะนึกถึงรถสปอร์ต 2 ประตูที่ใส่แอโรพาร์ทรอบคัน แต่เชื่อไหมว่า ความจริงแล้ว รถแข่ง 4 ประตูก็ได้รับอนุญาตให้ลงแข่งขันได้เช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น Toyota Prius GT300 คันนี้ ที่ได้รับการโมดิฟายแบบเต็มสูตรเพื่อลงแข่งขันในรายการ Super GT โดยเฉพาะ

    [​IMG]

    ในการแข่งขัน Super GT นั้น รถแข่ง GT300 และ GT500 จะถูกปล่อยตัวให้วิ่งใน "เรซ" เดียวกัน หรือพูดง่ายๆ ว่าวิ่งพร้อมกันน่ะแหละ แต่คำถามก็คือว่า... ทำไมต้องวิ่งพร้อมกัน?

    คำถามข้อที่ 3 : ทำไมรถแข่ง GT300 และ GT500 ถึงวิ่งแข่งพร้อมกัน?

    ในการแข่งขัน Super GT ในทุกสนาม รถแข่ง GT300 และ GT500 จะถูกปล่อยตัวให้วิ่งพร้อมๆ กัน

    อ้าวว...อย่างงี้ รถแข่ง GT300 มันจะไปวิ่งทัน GT500 ได้ยังไง? รถแข่ง GT500 มันก็ชนะทั้งปีน่ะสิ?

    ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายคน คงจะเกิดคำถามขึ้นในใจเช่นเดียวกับผม จริงอยู่ครับ ที่ว่าปล่อยตัวออกสตาร์ทพร้อมกัน แต่ทว่าอันดับการเข้าเส้นชัยจะถูกเอามาตัดสินแยกเป็นรุ่น GT300 และ GT500 เพราะฉะนั้น ถึงแม้รถแข่ง GT300 และ GT500 จะวิ่งพร้อมกัน แต่ก็ไม่ได้มีผลดีผลเสียกับอันดับเข้าเส้นชัย

    [​IMG]

    อ่อ...อย่างนี้นี่เอง แต่ก็ยังงงอยู่ดีว่า ทำไม GT300 และ GT500 ถึงปล่อยตัวพร้อมกัน?

    ความจริงก็คือว่า... ปกติแล้ว สำหรับการแข่งขันรถยนต์ GT ทุกประเภทนั้น ถือเป็น "ธรรมเนียมปฏิบัติ" อยู่แล้วว่า รถแข่งทุกรุ่นทุกคลาส ต้องลงแข่งใน "เรซ" (Race) เดียวกัน

    [​IMG]

    ยกตัวอย่างเช่น ในบางสนามของการแข่ง FIA GT รถแข่งรุ่นพี่ใหญ่และรถแข่งรุ่นน้องเล็กอย่าง GT1 และ GT2 ก็จะวิ่งแข่งพร้อมกัน

    สำหรับการแข่งขัน Super GT แล้ว เหตุผลหลักๆ ของการปล่อยให้ GT300 และ GT500 ลงแข่งใน "เรซ" เดียวกันนั้น ถือเป็นการ "เอนเตอร์เทนผู้ชม" นั่นเอง และนี่ก็เป็นหนึ่งในเสน่ห์ของการแข่งขัน Super GT โดยเฉพาะรถแข่งคลาส GT500 แค่ลำพังไล่แซงรถแข่ง GT500 ด้วยกันเองก็ลำบากพอแล้ว แต่นี่ยังต้องหาจังหวะแซงรถ GT300 ที่วิ่งช้ากว่า เพราะฉะนั้น ในตลอดทั้งการแข่งขัน จึงมีการ "แซง" กันบ่อยครั้งมากๆ การแข่งขัน Super GT จึงเป็นการแข่งขันที่ท้าทาย และต้องลุ้นอยู่ตลอดเวลา สำหรับผู้ชมก็จะเร้าใจกับการผลัดการไล่ ผลัดกันแซงของฝูงรถแข่งที่กระหายซึ่ง "ชัยชนะ" ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งจบการแข่งขัน และนี่ก็คือเหตุผลที่ว่า ทำไม GT300 และ GT500 ถึงแข่งพร้อมกัน?

    [​IMG]

    [​IMG]

    คำถามข้อที่ 4 : จะรู้ได้ยังไง...ว่ารถแข่งคันไหนคือ GT300 หรือ GT500?

    ตอนที่เพิ่งเริ่มการแข่งขันได้ประมาณ 3-4 รอบสนาม มันเป็นอะไรที่ตื่นเต้นมาก
    ผมนี่...ยืนดูตลอดเลย

    แต่พอนานเข้า... รถแข่ง GT500 ก็เริ่ม "น็อครอบ" รถแข่ง GT300 ...เท่านั้นแหละ! มันมั่วมาก แซงกันมั่วซั่วไปหมด ดูไม่ออกเลยว่ารถคันไหนเป็น GT300 คันไหนเป็น GT500?
    ผมนี่...นั่งลงเลยครับ...

    ปกติแล้ว การจะสังเกตว่า รถคันนั้นอยู่ใน "คลาส" อะไร มีจุดสังเกตง่ายๆ 3 จุดดังนี้ครับ

    จุดสังเกตที่ง่ายที่สุดก็คือ "สีของไฟหน้า" รถแข่ง GT300 จะมีไฟหน้า "สีเหลือง" ส่วนไฟหน้าของรถแข่ง GT500 จะมี "สีขาวนวล" ครับผม "ไฟหน้า" ถือเป็นจุดสังเกตที่ชัดเจนที่สุด เพราะว่าเราสามารถเห็นได้จากระยะไกล หรือแม้แต่ในวันที่ฝนตกหรือว่าหมอกลง เราก็สามารถทราบได้ทันทีว่ารถคันนั้นคือ GT300 หรือว่า GT500

    [​IMG]

    จุดสังเกตจุดที่สองคือ "สติ๊กเกอร์คาดกระจกหน้า" สำหรับรถแข่ง GT300 จะเป็น "แถบสีเหลือง" ส่วนของ GT500 จะเป็น "แถบสีขาว"

    [​IMG]

    จุดสังเกตจุดที่สามคือ "สติ๊กเกอร์หมายเลขรถแข่ง" ซึ่งจะถูกแปะไว้ที่ด้านข้างของตัวรถ โดยรุ่น GT300 จะมีสีพื้นหลังเป็น "สีเหลือง" แต่รุ่น GT500 จะมีสีพื้นหลังเป็น "สีขาว"

    [​IMG]

    อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่า การแข่งขัน Super GT เป็นการแข่งขันที่ รถแข่งมีการเปลี่ยนตำแหน่งบ่อยครั้งมาก เรียกได้ว่าผลัดกันนำผลัดกันตามตลอดเวลา โดยเฉพาะในรอบต้นๆ ของการแข่งขันนั้น มีการแซงกันเกือบจะทุกโค้ง บางครั้งแซงกันตั้งแต่ออกสตาร์ทเลยก็มี...

    พูดถึงตอนออกสตาร์ทนี่.... จะว่าไปแล้วก็แปลกใจอยู่เหมือนกัน ทำไมรถแข่ง Super GT ถึงไม่จอดในกริดสตาร์ท? ทำไมถึงต้องสตาร์ทแบบ Rolling Start ด้วยนะ?

    คำถามข้อที่ 5 : ทำไมต้องปล่อยรถแข่งแบบ Rolling Start?

    ปกติแล้ว ในทุกสนามของการแข่งขัน Super GT จะมีการปล่อยตัวรถแข่งแบบ "Rolling Start" ซึ่งหมายถึงการปล่อยรถแข่งออกจากเส้นสตาร์ทโดยที่รถแข่ง "กำลังวิ่งอยู่" ซึ่งต่างจากการปล่อยรถแข่งแบบ "Standing Start" ซึ่งเป็นการปล่อยรถแข่งจาก "กริดสตาร์ท" ในขณะที่รถแข่งจอดนิ่งสนิท

    [​IMG]

    ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายๆ ท่านน่าจะคุ้นเคยกับการปล่อยแบบ "Standing Start" มากกว่า เพราะว่าการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบส่วนมากจะปล่อยรถแข่งจาก "จุดหยุดนิ่ง" ไม่ว่าจะเป็น การแข่งขันฟอร์มูล่า-วัน (Formula 1) หรือการแข่งขันรถยนต์ทัวร์วิ่งคาร์ อย่างเช่น World Touring Car Championship ก็มีการปล่อยตัวแบบ "Standing Start" ด้วยกันทั้งนั้น

    [​IMG]

    สำหรับรถแข่ง Super GT แล้ว ก่อนที่จะทำการ "Rolling Start" นั้น รถแข่งทุกคันจะต้อง "ตั้งแถว" เพื่อวิ่งตามรถ "จ่าฝูง" หรือที่เรียกว่า "เซฟตี้ คาร์" (Safety Car) เป็นจำนวน 1 รอบสนาม ซึ่งการวิ่งตามรถจ่าฝูงแบบนี้เรียกว่า "Formation Lap" หรือหมายถึง "รอบตั้งแถว" นั่นเอง

    ในขณะที่วิ่งตามรถเซฟตี้คาร์อยู่นั้น รถแข่งจะต้อง "ห้ามแซง" โดยเด็ดขาด นักแข่งจะต้องรักษาตำแหน่งของตัวเองไว้และวิ่งตามรถแข่งคันหน้าไป จนกระทั่งเซฟตี้คาร์ วิ่งกลับเข้าไปในพิท และนายสนามให้สัญญาณ "ไฟเขียว" ซึ่งเป็นการบอกนักแข่งว่า "การแข่งขันได้เริ่มขึ้นแล้ว!" จังหวะนั้นนักแข่งทุกคนจะกดคันเร่งแบบจมเท้า แล้วหา "ไลน์" ที่ดีที่สุดเพื่อสร้างความได้เปรียบก่อนที่จะเข้าโค้งแรก

    [​IMG]

    [​IMG]

    แล้วทำไม Super GT ถึงปล่อยรถแข่งแบบ Rolling Start? มันมีเหตุผลอะไรเหรอ?

    ความจริงก็คือว่า สำหรับการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบแล้ว การปล่อยตัวแบบ "Rolling Start" นั้น มีข้อได้เปรียบอยู่หลายประการเมื่อเปรียบเทียบกับการปล่อยตัวแบบ "Standing" ข้อได้เปรียบที่ว่านั้นประกอบไปด้วย...

    ข้อได้เปรียบประการแรกนั้นก็คือว่า การปล่อยตัวแบบ Rolling จะเป็นการเปิดโอกาส ให้รถแข่งสามารถแซงเพื่อแย่งอันดับกันตั้งแต่ออกสตาร์ท ผู้ชมก็จะได้ชมรถแข่งเบียดกันอย่างดุเดือดตั้งแต่เริ่มต้นการแข่งขัน ซึ่งเป็นอะไรที่ตื่นเต้นเร้าใจมากกว่าการปล่อยตัวแบบ Standing

    ข้อดีข้อที่สองนั้นเป็นการเพิ่มความ "สมดุล" ให้กับการแข่งขัน แน่นอนว่า รถแข่งที่มีน้ำหนักมากกว่า ย่อมออกตัวได้ช้ากว่า แต่ถ้าหากปล่อยตัวแบบ Rolling แล้วล่ะก็ ไม่ว่ารถจะเบาหรือจะหนักก็สามารถ "เร่งออกตัว" ได้เร็วพอๆ กัน เพราะฉะนั้น การปล่อยตัวแบบ Rolling จึงเป็นการลดความได้เปรียบเชิงน้ำหนัก (Weight Advantage) ซึ่งจะทำให้การแข่งขันมีความคู่คี่สูสีมากขึ้น

    ข้อได้เปรียบประการสุดท้าย การปล่อยตัวแบบ Rolling เป็นการ "ถนอม" ระบบส่งกำลังของรถแข่ง นั่นก็เพราะว่าการปล่อยตัวแบบ Rolling จะมีภาระที่เกิดขึ้นกับระบบส่งกำลังน้อยกว่า (Less Load on Drivetrain) เมื่อเปรียบเทียบกับการปล่อยตัวแบบ Standing Start

    ด้วยเหตุผมทั้ง 3 ข้อที่ได้กล่าวมา การปล่อยตัวแบบ Rolling Start จึงถูกนำมาใช้กับรถแข่ง Super GT ครับผม

    คำถามข้อที่ 6 : ทำไมจึงต้องมีการบวก "น้ำหนักถ่วง" (Weight Handicaps) ให้กับรถแข่ง?

    การแข่งขันคงน่าเบื่อแย่ถ้าหากว่า รถแข่งคันเดิมๆ ได้แชมป์ในทุกๆ สนาม เพราะฉะนั้น ในการแข่งขัน Super GT จึงมีระบบ "Weight Handicaps" หรือระบบ "น้ำหนักถ่วง" ซึ่ง "น้ำหนักถ่วง" จะถูกเอาไปใส่รถแข่งที่ "ทำผลงานได้ดี" ในสนามที่แล้วๆ การทำเช่นนี้จะช่วยเปิดโอกาสให้รถแข่งคันอื่นๆ สามารถเร่งแซงขึ้นมา เพื่อทำคะแนนตีตื้นได้ง่ายกว่าเดิม

    ยิ่งชนะบ่อยครั้ง รถแข่งก็จะถูกบวก "น้ำหนักถ่วง" เพิ่มมากขึ้น และยิ่งรถแข่งมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากเท่าไหร่ มันก็จะวิ่งได้ช้าลง และยังมีระยะเบรกที่ยาวขึ้นอีกด้วย ดังนั้น โอกาสที่จะเป็น "แชมป์" จึงน้อยลงกว่าเดิม เพราะฉะนั้น วัตถุประสงค์ของการถ่วงน้ำหนักก็คือ เพิ่มความ "คู่คี่สูสี" หรือเพิ่มความ "สมดุล" ให้กับการแข่งขัน ซึ่งจะทำให้แฟนๆ ต้องลุ้นกันแบบ "เยี่ยวเหนียว" ตั้งแต่สนามแรกจนถึงสนามสุดท้ายกันเลยทีเดียว

    [​IMG]

    [​IMG]

    เราสามารถสังเกตสติ๊กเกอร์ Weight Handicaps ด้านข้างของตัวรถ โดยสติ๊กเกอร์นี้จะบอกว่า รถแข่งคันนี้ถูกบวก "น้ำหนักถ่วง" อยู่เท่าไหร่

    นอกจากสติ๊กเกอร์ Weight Handicaps จะทำให้เราทราบถึง "น้ำหนักถ่วง" ที่อยู่ในรถแข่งแต่ละคันแล้ว มันยังบอกให้เราทราบว่า รถคันไหนคือ "ตัวเก็ง" หรือ "ว่าที่แชมป์" ของปีนี้ โดยสังเกตได้จากจำนวน "น้ำหนักถ่วง" ยิ่งมีน้ำหนักมากเท่าไหร่ก็แสดงว่า "ชนะ" มาหลายครั้ง และมีโอกาสที่จะเป็น "แชมป์" สูงกว่าคนอื่นนั่นเอง

    [​IMG]

    [​IMG]

    ตารางข้างล่างนี้เป็นตัวอย่างการคำนวณ "น้ำหนักถ่วง" ของรถแข่ง Super GT ในฤดูกาล 2014

    และนี้คือตัวอย่างคร่าวๆ นะครับ... สมมติว่า รถแข่งของทีม A ลงแข่งขันในสนามแรกและจบการแข่งขันในอันดับที่ 6 ซึ่งได้คะแนนสะสม 5 แต้ม ในสนามที่สอง มีข้อกำหนดอยู่ว่า รถแข่งทุกคันที่มีแต้มสะสม จะต้องใส่น้ำหนักถ่วง โดย 1 แต้ม ให้ใส่น้ำหนัก 2 กิโลกรัม เนื่องจาก รถแข่งทีม A มีคะแนนสะสม 5 แต้ม เพราะฉะนั้น ในสนามที่สอง รถแข่งทีม A จะต้องใส่น้ำหนักถ่วงทั้งหมด = 5 x 2 = 10 กิโลกรัมครับผม

    [​IMG]

    จากตาราง "น้ำหนักถ่วง" จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ยิ่งใครมีแต้มสะสมมากเท่าไร่ ก็ยิ่งต้องแบก "น้ำหนักถ่วง" มากเท่านั้น โดยน้ำหนักถ่วงสูงสุดคือ 100 กิโลกรัม แต่ในการแข่งขันสนามสุดท้าย น้ำหนักถ่วงจะถูกเอาออกทั้งหมด เพื่อให้รถแข่งได้แสดงสมรรถนะที่แท้จริงออกมา
     

ความคิดเห็น

การสนทนาใน 'Articles' เริ่มโดย RacingWeb, 13 มิถุนายน 2015

    1. RacingWeb
      RacingWeb
      คำถามข้อที่ 7 : ไฟแว๊บๆ สีแดงสีน้ำเงินที่อยู่ตรงกระจกหน้า...มันคืออะไร?
      ถ้าใครเคยสังเกตที่กระจกหน้าของรถแข่ง SuperGT จะเห็นไฟ LED เรียงกันเป็นเม็ดๆ มีทั้งสีแดงและสีน้ำเงิน เอ๊ะ!? นั่นมันไฟหวอของรถตำรวจไม่ใช่เหรอ? แล้วเอามาใส่ในรถแข่งทำไม?

      [​IMG]

      [​IMG]

      อันนั้นมันไม่ใช่ไฟตำรวจครับ... ความจริงก็คือว่า ไฟ LED สีแดงและสีน้ำเงิน มีไว้เพื่อบ่งบอกว่า ในตอนนี้ นักแข่งคนไหนที่กำลังขับอยู่นั่นเองครับ

      [​IMG]

      [​IMG]

      ตามกติกาของการแข่งขัน SuperGT จะกำหนดไว้ว่า ในการแข่งขัน 1 เรซ จะต้องมีนักแข่งอย่างน้อย 2 คน เนื่องจากการแข่งขันในแต่ละเรซนั้น ใช้เวลาเป็นชั่วโมงๆ เพราะฉะนั้น เพื่อไม่ให้นักแข่งเกิดความเมื่อยล้า จึงจำเป็นต้องกำหนดให้มีนักแข่ง 2 คนนั่นเอง

      ความหมายของไฟ LED สีแดง หมายความว่า ตอนนี้นักแข่งหมายเลข 1 กำลังขับอยู่ ส่วนสีน้ำเงินหมายถึงนักแข่งหมายเลข 2 นั่นเองครับ

      นอกจากนั้นยังมีกฎอีกว่า นักแข่งแต่ละคนจะสามารถขับได้ไม่เกิน 2 ใน 3 ของระยะทางทั้งหมด สมมติว่าในเรซหนึ่งแข่งกันทั้งหมด 60 รอบสนาม นักแข่งคนแรกจะสามารถขับได้มากที่สุดคือ 40 รอบสนามเท่านั้นครับ จากนั้นก็ต้องเปลี่ยนเป็นนักแข่งหมายเลขสอง

      คำถามข้อที่ 8: ตัวถังของรถแข่ง Super GT ทำมาจากอะไร?
      นอกจากเครื่องยนต์แรงม้าสูงแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้รถแข่ง SuperGT วิ่งได้เร็วแบบสุดขั้วนั่นก็คือ "ตัวถังน้ำหนักเบา" ตัวถัง (Chassis) ของรถแข่ง Super GT มีทั้งหมด 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนด้านหน้า, ส่วนห้องคนขับ (Cockpit) และส่วนด้านหลัง

      [​IMG]

      [​IMG]

      [​IMG]

      โดยปกติแล้ว ตัวถังด้านหน้าและด้านหลังจะถูกสร้างโดยใช้ท่อนเหล็กมาสานกันเป็นโครง เพื่อรับน้ำหนักของเครื่องยนต์และช่วงล่าง

      ส่วนของห้องคนขับ หรือ Cockpit นั้นถูกสร้างมาจาก "คาร์บอนไฟเบอร์ขึ้นรูป" หรือที่เรียกว่า "โมโนคอค" (Monocoque) ซึ่งเป็นวัสดุที่เบามาก นอกจากนั้นยังมีการเพิ่มความแข็งแรงด้วยท่อนเหล็กที่เชื่อมกันเป็น "โรล เคจ" (Roll Cage) ซึ่งมีน้ำหนักรวมกันเพียงแค่ 200 กิโลกรัมเท่านั้น!!

      [​IMG]

      [​IMG]

      และตัวถังนำหนักเบาก็ถือเป็นหนึ่งในอาวุธลับที่ทำให้ SuperGT เป็นรถแข่งทางเรียบที่เร็วที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับรถที่วิ่งบนท้องถนนแล้ว รถแข่ง SuperGT จะมีน้ำหนักจะเบากว่าประมาณ 20% แต่มีความแข็งแรงกว่าหลายเท่าตัวเลยทีเดียวครับ

      คำถามข้อที่ 9 : ทำไม "วิง" ของรถแข่ง GT500 มันถึงดูแปลกๆ?
      ผมเชื่อว่ามีท่านผู้อ่านจำนวนไม่น้อยที่สังเกตเห็นถึง "ความแปลก" ของ "วิง" (Wing) ของรถแข่ง Super GT

      มันแปลกยังไง? ...มันแปลกตรงที่ว่า "วิง" ถูกยึดจาก "ด้านบน" (Upper-mounting) ซึ่งมันเป็นอะไรที่เราไม่คุ้นตาเลยแม้แต่น้อย โดยปกติแล้ว "วิง" ที่เราเคยเห็นโดยทั่วไป จะถูกยึดจาก "ด้านล่าง" (Lower-mounting) แล้วจะถ่ายทอด "แรงกด" (Downforce) ผ่าน "ขายึดของวิง" (Wing-supporters) ลงสู่บริเวณด้านท้ายของตัวรถ แต่สำหรับวิงของรถแข่ง Super GT แล้ว... มันไม่ได้เป็นแบบนั้น

      [​IMG]

      "วิง" ที่ผมกำลังพูดถึงอยู่นี้ หมายถึง "วิง" ที่ติดตั้งอยู่บนรถแข่ง GT500 นะครับ เนื่องจากกติกาของรถแข่ง GT500 จะกำหนดให้รถแข่งทุกคันใส่ Aero-part ที่มีลักษณะเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น ลิ้นหน้า (Splitter), กาบข้าง (Side skirt), ดิฟฟิวเซอร์ (Diffuser) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Aero-part ที่ถือได้ว่าเป็น "พระเอก" ของเราในครั้งนี้ นั่นก็คือ "วิง" (Wing) นั่นเอง เค้ามีกฎไว้ว่าให้รถแข่งทุกคันใช้วิงที่มี "ลักษณะ" และ "ขนาด" เท่ากันทุกคัน เพราะเหตุนี้ "วิง" ของรถแข่ง GT500 ทุกคัน จึงมีลักษณะเหมือนกัน

      [​IMG]

      [​IMG]

      วิงแบบนี้เรียกว่า "Swan-neck Wing" แปลเป็นไทยได้ว่า "วิงคอห่าน" ที่มาที่ไปของชื่อนี้ ได้มาจาก "ขายึดของวิง" ที่ทำมุมโค้งเกือบจะ 180 องศา ซึ่งดูเผินๆ แล้วก็เหมือน "คอของห่าน" (Swan-neck) มันจึงถูกเรียกว่า "วิงคอห่าน" ไปโดยปริยาย

      วิงแบบคอห่านจะสามารถสร้าง "แรงกด" ได้มากกว่าวิงแบบปกติที่มีขนาดเท่ากันครับ แต่ว่าจะมี "แรงต้านอากาศ" มากกว่านิดหน่อย อย่างไรก็ตาม "แรงต้านอากาศ" ที่เพิ่มขึ้นมานั้น ถือว่าน้อยมาก จึงไม่ได้เป็นภาระของเครื่องยนต์ 500 แรงม้าแต่อย่างใด

      หลักการของ "วิงคอห่าน" นั้น ก็เหมือนกับหลักการของ "วิงแบบปกติ" ทุกประการ เพียงแต่ว่า "วิงคอห่าน" นั้น สามารถลด "จุดด้อย" ของวิงแบบปกติ ทำให้มันมีประสิทธิภาพเหนือกว่าอย่างเห็นได้ชัด

      ถ้าจะพูดถึงหลักอากาศพลศาสตร์ของ "วิง" แล้วล่ะก็ คงหนีไม่พ้นคำว่า "Wing Surface" หรือ "พื้นที่ของวิง" โดยปกติแล้ว พื้นที่ของวิงจะแบ่งเป็นสองส่วน คือ พื้นผิวด้านบน (Pressure Surface) และด้านล่าง (Suction Surface) หลักการก็คือว่า อากาศที่ไหลใต้ปีก (Suction Surface) จะมีความเร็วมากกว่าที่ไหลบนปีก (Pressure Surface)

      [​IMG]

      การยึดปีกจากด้านล่างนั้น จะรบกวนการไหลของอากาศที่ใต้ปีก ซึ่งเป็นอากาศที่ไหลด้วย "ความเร็วสูง" ซึ่งถ้าจะให้ดี เราต้องยึดปีกจากด้านบน ซึ่งเป็นบริเวณที่มีอากาศไหลด้วย "ความเร็วต่ำกว่า"

      ถ้าจะพูดให้ง่ายๆ ก็คือว่า "พื้นที่ใต้ปีก" (Lower surface) เป็นบริเวณที่อากาศไหลด้วยความเร็วสูงมากๆ เราจึงไม่ควรเอาอะไรไปขวางทางมัน เพราะฉะนั้น วิธีการแก้ปัญหาก็คือ เราต้องยึดปีกจากด้านบน ซึ่งจะรบกวนต่อการไหลอากาศ "น้อยกว่า" เป็นผลให้สามารถสร้าง "แรงกด" ได้มากกว่านั่นเอง

      (ท่านผู้อ่านที่สนใจเรื่อง "วิงคอห่าน" สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในบทความเรื่อง "Swan-neck wing : เจาะลึกวิงคอห่าน")

      คำถามข้อที่ 10 : ทำไมที่ปัดน้ำฝนของรถแข่ง Super GT มันถึงตั้งขึ้นมาอย่างนั้น?

      เคยสังเกตไหมว่า รถแข่งทางเรียบในปัจจุบันนี้ถึงมีใบปัดน้ำฝนเพียงแค่อันเดียว และที่แปลกกว่านั้นก็คือว่า ใบปัดน้ำฝนของรถแข่งพวกนี้ แทนที่มันจะวางขนานไปแนวกระจก แต่ทำไมมันกลับ "ตั้งฉาก" ขึ้นมาอย่างนั้น? ทำไมเหรอ? มันมีเหตุผลอะไร?

      และคำตอบของคำถามข้างต้นก็คือ "แอโรไดนามิคส์" อีกแล้วครับท่าน!!

      [​IMG]

      ปกติแล้ว เราจะชินตากับใบปัดน้ำฝนที่ถูกวางขนานไปกับแนวกระจก แต่สำหรับใบปัดน้ำฝนของรถแข่ง SuperGT มันตั้งฉากขึ้นมา เหตุผลก็คือว่า การวางใบปัดน้ำฝนในแนวตั้งฉาก (vertical-up) นั้นเป็นตำแหน่งที่สร้าง "แรงต้านอากาศ" น้อยที่สุด เพราะว่ามันเป็นตำแหน่งที่ขวางทางลมน้อยที่สุดนั่นเอง

      หา? ใบปัดน้ำฝนมีผลกับแอโรไดนามิคส์ขนาดนั้นเชียวเหรอ?

      ใช่แล้วครับ สำหรับรถแข่งทางเรียบอย่าง SuperGT ที่สามารถทำความเร็วได้มากถึง 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แอโรไดนามิคส์จึงเป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ ทุกอย่างที่สัมผัสกับอากาศจะต้องถูกออกแบบอย่างละเอียดถี่ถ้วน ไม่เว้นแม้แต่ใบปัดน้ำฝน เชื่อไหมว่าทีมแข่งบางทีมถึงกับต้องออกแบบใบปัดน้ำฝนในอุโมงค์ลมกันเลยทีเดียว

      [​IMG]

      [​IMG]

      และประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของการจับใบปัดน้ำฝนให้ชี้ขึ้นมานั้น ก็เพื่อเป็นการเพิ่มทัศนวิสัยให้กับนักแข่งนั่นเอง เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า สำหรับรถแข่งพวกนี้ ตำแหน่งที่นั่งของคนขับจะอยู่ต่ำมากๆ แน่นอนว่าถ้าเราวางใบปัดน้ำฝนในแนวขนานไปกับกระจก มันอาจจะไปบดบังทัศนวิสัยของนักแข่งโดยใช่เหตุ เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้ดี ก็จับมันตั้งขึ้นมาเลยดีกว่า

      ก็จบครบถ้วนกระบวนความแล้วนะครับ สำหรับบทความเรื่อง "10 คำถาม : เจาะลึกรถแข่ง SuperGT" หวังว่าท่านผู้อ่านคงจะได้รับความรู้ไม่มากก็น้อย

      เรียบเรียงโดย: Joh Burut
      ที่มา: http://johsautolife.com

แบ่งปันหน้านี้